Aspirin กับโรคหลอดเลือดสมอง ซื้อกินเองได้หรือไม่

Aspirin กับ โรคหลอดเลือดสมอง ซื้อกินเองได้หรือไม่
ดร.ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

            จากการส่งข้อความต่อ ๆ กันในหมู่สังคมออนไลน์ถึงเรื่องให้พกแอสไพรินไว้เพื่อลดความรุนแรงของการเกิดอาการ stroke หรือโรคหลอดเลือดสมอง จนอาจเกิดคำถามจากผู้บริโภคข้อมูลออนไลน์ว่าจริงหรือไม่ เนื่องจากการส่งต่อข้อมูลหรือข้อความออนไลน์ในปัจจุบันมีทั้งข้อมูลจริงและข้อมูลเท็จ ซึ่งเมื่อคำถามนี้มาถึงบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะเภสัชกรก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน

รูปที่ 1 โครงสร้างของแอสไพริน(3)

แอสไพริน (aspirin) เป็นยาที่มีการค้นพบและถูกใช้มาเป็นเวลานาน มีชื่อทางเคมีคือ acetylsalicylic acid มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีและมีฤทธิ์ในการรักษาที่ใช้ได้กับหลายโรค ยานี้จึงมีวิธีการใช้และขนาดการใช้ของแต่ละข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกัน รวมถึงผลข้างเคียงของยาที่มีตั้งแต่ไม่รุนแรง เช่น ระคายเคืองทางเดินอาหาร ไปจนถึงผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น เลือดออกผิดปกติโดยเฉพาะที่พบบ่อยคือ เลือดออกในทางเดินอาหาร แอสไพรินเป็นยาในกลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) ใช้สำหรับลดอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ลดไข้ อีกทั้งยังใช้สำหรับป้องกันการเกิดหลอดเลือดอุดตันได้อีกด้วย(1)

กลไกการออกฤทธิ์ของแอสไพริน(1,2)

แอสไพรินออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอนไซม์ในร่างกายที่ทำให้เกิดสารอักเสบซึ่งมีชื่อว่า ไซโคลออกซิจีเนส หรือเรียกชื่อเอนไซม์นี้อย่างย่อ ๆ ว่า ค็อกซ์ (cyclooxygenase; COX) ซึ่งสามารถอธิบายได้ตามกลไกในรูปที่ 2

รูปที่ 2 การที่แอสไพรินยับยั้ง COX-1 เพื่อลดการปวดและการอักเสบ(4)

            และเนื่องจากเอนไซม์ค็อกซ์ (COX enzyme) มีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างสารที่ทำให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ที่มีชื่อว่า ทร็อมบ็อกเซนเอทู thromboxane-A2 ดังนั้น ผลที่ได้จากการใช้แอสไพริน นอกจากจะบรรเทาอาการอักเสบแล้ว การยับยั้งเอนไซม์ยังทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มกันได้ยากมากขึ้น ซึ่งขนาดยาที่สูงของแอสไพรินคือ ขนาด 325-650 มิลลิกรัมต่อครั้ง จะได้ผลดีในการบรรเทาอาการปวดและอักเสบ ส่วนขนาดยาที่ต่ำของแอสไพรินคือ 75-150 มิลลิกรัมต่อวัน จะมีผลการรักษาที่ดีโดยมีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดมาเกาะกลุ่มกันได้ ซึ่งสามารถอธิบายได้ตามกลไกในรูปที่ 3

รูปที่ 3 แอสไพรินยับยั้งการสร้าง thromboxane-A2 ที่ทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มกัน(5)

ขนาดการใช้ยา(2)

            การใช้แอสไพรินมีข้อบ่งใช้คือ ใช้ตามอาการเพื่อบรรเทาอาการอักเสบและลดไข้ และใช้เพื่อต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดสำหรับป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน และรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

            การใช้แอสไพรินเพื่อบรรเทาอาการปวด อักเสบ และลดไข้ ขนาดแอสไพรินในข้อบ่งใช้นี้ควรเป็นขนาดยาที่สูงคือ 325-650 มิลลิกรัม (บางการศึกษาพบว่าควรเริ่มด้วยขนาดยา 600-650 มิลลิกรัมขึ้นไปในการบรรเทาอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง และขนาด 500-1,000 มิลลิกรัมเพื่อลดไข้) รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง ลักษณะของเม็ดยาจะมีขนาดใหญ่และเป็นเม็ดยาที่ถูกเคลือบเพื่อควบคุมให้มีการปลดปล่อยยาที่ลำไส้เล็ก (enteric-coated tablet) ผู้ป่วยควรรับประทานยาทั้งเม็ดหลังอาหารทันทีเพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร โดยใช้ตามอาการที่เป็นและหยุดใช้ยาเมื่ออาการหมดไป

การใช้แอสไพรินเพื่อรักษาภาวะหลอดเลือดอุดตัน ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดหัวใจ หากผู้ป่วยไม่เคยได้รับแอสไพรินมาก่อน ในวันแรกที่มีอาการแพทย์ผู้ให้การรักษาจะแนะนำให้ผู้ป่วยเคี้ยวแอสไพรินขนาด 300-325 มิลลิกรัม เพื่อให้ระดับยาในเลือดมากพอและเกิดการยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดอย่างรวดเร็ว(2,6) เพื่อป้องกันการเกิดการอุดตันหลอดเลือดซ้ำอีก จากนั้นจะลดขนาดยาลงเป็นแอสไพรินขนาดต่ำคือ 81 มิลลิกรัม และรับประทานตามปกติ โดยรับประทานหลังอาหารทันทีและกลืนยาทั้งเม็ด โดยผู้ป่วยจะต้องรับประทานแอสไพรินขนาดต่ำต่อเนื่องไปตลอดเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของภาวะหลอดเลือดอุดตัน

สถานะทางกฎหมายของแอสไพรินกับการจ่ายยา

            เนื่องจากการกำหนดประเภทของยาตามกฎหมายนั้นมีผลต่อการจ่ายยาในร้านยาโดยตรง แอสไพรินได้ถูกกำหนดไว้เป็น 2 ประเภท ซึ่งขึ้นกับข้อบ่งใช้ ดังนี้

จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 33 ส่งผลให้แอสไพรินมีสถานะทางกฎหมายดังนี้(7)

  1. ข้อบ่งใช้ ต้านการอักเสบ และป้องกันการเกิดลิ่มเลือด จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ (ขนาด 81 มิลลิกรัม) ต้องจ่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น
  2. ข้อบ่งใช้ สำหรับแก้ปวด ลดไข้ จัดเป็นยาอันตราย (ขนาด 300 มิลลิกรัม) เภสัชกรสามารถจ่ายได้ตามความจำเป็น

จึงเป็นผลทำให้เภสัชกรสามารถจ่ายยาในร้านยาได้ในข้อกำหนดที่ต่างกันตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ด้วยเหตุผลข้างต้นของบทความนี้ แอสไพริน300-325 มิลลิกรัมจึงสามารถยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดอย่างรวดเร็วโดยการเคี้ยวได้ และจากข้อมูลนี้อาจทำให้กลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงมีความต้องการอยากจะซื้อหาพกพาแอสไพริน หรือจะหาแอสไพรินขนาดต่ำ 81 มิลลิกรัม มารับประทานเองอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันตนเองจากภาวะ stroke ที่อาจเกิดขึ้นโดยขาดความรู้ความเข้าใจ และอาจเกิดผลอันตรายได้ ซึ่งกลไกของการคุ้มครองทางด้านกฎหมายได้กำหนดประเภทของแอสไพรินไว้ในระดับหนึ่งเพื่อควบคุมและป้องกันการเกิดหลอดเลือดอุดตัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเภสัชกรชุมชนที่เป็นผู้ที่อยู่ในชุมชน และประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวกที่สุดจะต้องแนะนำให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

เอกสารอ้างอิง

  1. พรชนก สายเชื้อ. ยาแอสไพริน ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง. https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/ยาแอสไพริน
  2. วิภารักษ์ บุญมาก. แอสไพริน (aspirin). https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/แอสไพริน(aspirin)/
  3. https://th.wikipedia.org/wiki/แอสไพริน
  4. http://www.ayuwat.com/article/ผลข้างเคียง-ของยาแก้อักเสบ-nsaid-nonsteroidal-anti-inflammatory-drug-ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
  5. Nontaya Nakkam, Sirimas Kanjanawart, Somsak Tiamkao, Wichittra Tassaneeyakul. Pharmacology and Factors Affecting the Therapeutic Efficacy of Clopidogrel. http://www.smj.ejnal.com/e-journal/showdetail/?show_detail=T&art_id=1843
  6. พรภัทร ธรรมสโรช. Role of Antiplatelet Drugs in Treatment of Acute Ischemic Stroke. J Thai Stroke Soc. Volume 17(1), 2018. https://thaistrokesociety.files.wordpress.com/2018/05/09-role-of-antiplatelet-drugs-in-treatment.pdf
  7. ปรุฬห์ รุจนธำรงค์. สถานะทางกฎหมายของแอสไพริน. http://rparun.blogspot.com/2011/10/aspirin.html