สารฟอกฟันขาว

สารฟอกฟันขาว
ดร.ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ฟันของคนเรานั้นมีไว้เพื่อใช้กัด ตัด และบดเคี้ยวอาหาร แต่ในขณะเดียวกันฟันที่ขาวสวยงามสุขภาพดีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างบุคลิกได้เช่นกัน การดูแลรักษาฟันให้ขาวสวยงามนั้นจึงเป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ หรือใช้ผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ที่นำไปทำด้วยตนเองได้ ซึ่งการซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปใช้เอง ผู้ใช้ควรคำนึงถึงอะไรบ้างเพื่อให้ปลอดภัย

โครงสร้างของฟัน(1,2)
รูปที่ 1 โครงสร้างของฟัน(1)

 จากรูปที่ 1 สามารถแบ่งโครงสร้างของฟันได้เป็น 3 ส่วน

  1. Crown หรือครอบฟันเป็นส่วนที่อยู่เหนือเหงือก (gum) สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
  2. Neck หรือคอฟัน เป็นส่วนที่อยู่ตรงเหงือกระหว่าง crown กับรากฟัน (root)
  3. Root หรือรากฟันซึ่งอยู่ใต้เหงือก ซึ่งมีรากเดียว เช่น ฟันตัด (incisors), ฟันเขี้ยว (canine) หรือมากกว่า เช่น ฟันกราม (molar) และฟันกรามหน้า (premolar) มี 4 ราก

      ในส่วนของ crown ด้านนอกคือ enamel ซึ่งจัดเป็นสารที่มีความแข็งแรงที่สุดในร่างกายมนุษย์ มีลักษณะไม่ทึบแต่ไม่ใสของ hydroxyapatite กับ calcium และ phosphorus crystals ที่เรียงอัดแน่นใน protein matrix หุ้มส่วนชั้นในที่อ่อนกว่าที่เรียกว่า dentine ที่เป็นสารประกอบของ calcium phosphate และ collagen อยู่รอบ ๆเส้นเลือดและเส้นประสาท โดยสีของฟันที่เราเห็นนั้นเกิดจากแสงผ่าน enamel และสะท้อนโดย dentine ทำให้ฟันดูมีสีขาวเป็นมันวาว

สาเหตุที่ทำให้ฟันเปลี่ยนสี(2-4)

            มีสาเหตุต่าง ๆ มากมายที่ทำให้ฟันเปลี่ยนสี ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น

  1. Extrinsic stains (external stains) เป็นคราบที่ติดอยู่ผิวนอกของฟัน เช่น คราบของชา กาแฟ หรือบุหรี่ โดยการแปรงฟันหรือการทำความสะอาดโดยทันตแพทย์สามารถขจัดคราบเหล่านี้ได้
  2. Intrinsic stains (internal stains) เป็นคราบที่ติดอยู่ในเนื้อฟัน เช่น ฟันตกกระเนื่องจากในวัยเด็กได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป หรือฟันมีสีคล้ำเนื่องจากในวัยเด็กได้รับยาปฏิชีวนะ tetracycline ซึ่งไม่สามารถขจัดออกไปได้ด้วยการแปรงฟันหรือขัดฟันโดยทันตแพทย์
  3. สาเหตุจากเมื่ออายุมากขึ้นชั้นของ enamel จะบางลงทำให้มองเห็นสีของชั้น dentine ที่อยู่ถัดลงไปได้ชัดเจนขึ้นเป็นสีเหลือง การเกิดอุบัติเหตุฟันถูกกระแทกจนเส้นประสาทที่มาเลี้ยงนั้นเสียหรือตายไป เนื้อฟันชั้น dentine จะเปลี่ยนสี ทำให้ฟันมีสีคล้ำ การฟอกสีฟันจากสาเหตุนี้จะทำการฟอกสีฟันด้วยเจลฟอกสีฟัน โดยทันตแพทย์จะต้องตรวจดูสภาพของเหงือกและฟัน รอยร้าวต่าง ๆ บนตัวฟัน และสภาพการรั่วของวัสดุอุดฟัน รวมทั้งจะต้องขูดหินปูนเพื่อทำความสะอาดฟันและลดการอักเสบของเหงือกก่อน

ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ฟันขาว(2)

            ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ฟันขาวขึ้นแบ่งได้ตามการออกฤทธิ์ได้เป็น 2 กลุ่ม(2) คือ

  1. Surface whiteners เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขจัดคราบบนผิวฟันเท่านั้น ไม่มีผลต่อคราบที่อยู่ในเนื้อฟัน การแปรงฟันด้วยยาสีฟันทั่วไปก็สามารถขจัดคราบบนผิวฟันได้บ้าง ส่วนยาสีฟันที่มีสรรพคุณที่ช่วยให้ฟันขาวนั้นมักจะมีส่วนผสมของผงขัดที่ละเอียดเป็นพิเศษ ขจัดคราบที่ผิวฟัน เมื่อใช้แล้วฟันจะสะอาดเงางามและสะท้อนแสงได้มากกว่าปกติ จึงดูเหมือนฟันขาวขึ้น แต่ความจริงคือสีของฟันยังเหมือนเดิม
  2. Bleaches เป็นผลิตภัณฑ์ที่ฟอกสีของเนื้อฟันโดยมีสารออกฤทธิ์คือ hydrogen peroxide หรือ carbamide peroxide ซึ่งแตกตัวออกเป็น oxygen free radicals และน้ำ จากนั้น oxygen free radicals ที่แตกตัวจะแทรกซึมเข้าไปในส่วน enamel และ dentine แล้วไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคราบทำให้คราบจากสีเหลืองน้ำตาลเป็นไม่มีสีดูใสขึ้น ทำให้ฟันดูสว่างขึ้นโดยที่คราบมิได้ถูกกำจัดออกไป และโครงสร้างของฟันไม่ได้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด อาการข้างเคียงที่พบคือ อาการเสียวฟัน และระคายเคืองเนื้อเยื่อในช่องปาก ซึ่งอาจเกิดในช่วงฟอกสีฟัน ส่วนใหญ่เมื่อทำเสร็จแล้วอาการเหล่านี้มักหายไป

การฟอกสีฟันด้วยสาร hydrogen peroxide(2-7) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ

  1. การฟอกสีฟันภายใต้การดูแลของทันตแพทย์ แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
  • Chair-side bleaching เป็นการฟอกสีฟันที่โรงพยาบาลหรือคลินิก โดยทันตแพทย์จะตรวจวินิจฉัยและใช้ bleaching agent หรือสารฟอกสีที่มีความเข้มข้นสูง เช่น 35% hydrogen peroxide บรรจุในถาดครอบฟัน (custom-fitted mouthguard) บางครั้งอาจมีการใช้แสงร่วมด้วยเพื่อเร่งปฏิกิริยา การป้องกันเนื้อเยื่อในช่องปากนั้นทำโดยใช้ protective gel หรือ rubber shield เพื่อมิให้สารเคมีสัมผัสกับเหงือกโดยตรง การฟอกวิธีนี้จะใช้เวลาไม่นานและผลที่ได้จะคงอยู่ 1-3 ปี
  • Home bleaching (Dentist prescribed) ทันตแพทย์จะตรวจวินิจฉัยสุขภาพของช่องปากว่าเหมาะสมหรือไม่ สมควรที่ต้องใช้ bleaching agent ที่มีความเข้มข้นเท่าใด จากนั้นทำพิมพ์และแนะนำให้คนไข้กลับไปทำเองที่บ้าน และนัดมาตรวจเป็นระยะ ๆ

รูปที่ 2 อุปกรณ์ NUPRO White Gold is a dentist-prescribed, take-home system(5)

  1. การฟอกสีฟันด้วยตนเองโดยไม่ได้รับการตรวจจากทันตแพทย์ ซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีขายในท้องตลาดทั่วไป (Over-the-counter bleaching kits) หลักการนั้นเป็นไปในทางเดียวกับแบบแรก แต่ความเข้มข้นของ bleaching agent จะมีความเข้มข้นต่ำ ค่าใช้จ่ายนั้นจะต่ำกว่าไปพบทันตแพทย์มาก

  ผลิตภัณฑ์ Over-the-counter bleaching kits นั้นมีหลายรูปแบบซึ่งมีความสะดวกสบาย เช่น

  • Over-the-counter tray-based bleaching system ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะคล้ายกับผลิตภัณฑ์ที่ทันตแพทย์ใช้ ส่วนของถาดครอบฟันเป็นชนิดสำเร็จรูปซึ่งอาจสวมได้ไม่พอดีจึงมักเกิดปัญหาครอบฟันเสียดสีกับเหงือก หรือน้ำยาล้นออกมาโดนเหงือกจนเกิดการระคายเคืองเยื่อบุในช่องปาก

รูปที่ 3 Whiter than white ชุดอุปกรณ์ในการฟอกสีฟัน(6)
รูปที่ 4 แสดงการใช้ tray ในการฟอกสีฟัน(6)

  • Over-the-counter whitening strips เป็นแถบบาง ๆ เคลือบด้วย peroxide-based whitening gel ใช้แปะติดกับผิวฟันวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เป็นเวลาติดต่อกัน 14 วัน

รูปที่ 5 การใช้ whitening strip ในการฟอกสีฟัน(7)

  • Over-the-counter whitening gel เป็น peroxide-based whitening gel ใช้แปรงเล็ก ๆ ทาเจลลงบนผิวฟันวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 14 วัน
  • Whitening pen(6) เป็น 12% hydrogen peroxide ในรูปแบบของเหลวบรรจุในอุปกรณ์คล้ายปากกา ใช้ทาที่ฟันครั้งละ 30 วินาที การใช้จะเริ่มเห็นผลชัดเจนเมื่อใช้ 3 ครั้งขึ้นไป

รูปที่ 6 Whitening pen(6)

            ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ใช้ hydrogen peroxide ต่ำกว่าที่ทันตแพทย์ใช้มาก ผลจะไม่ชัดเจนเท่ากับที่ทันตแพทย์ทำให้

            กลไกการฟอกสีฟันใช้หลักการที่ oxygen free radicals เปลี่ยนสีของคราบฟันในเนื้อฟันทำให้ฟันแลดูขาวขึ้น สารออกฤทธิ์ที่นิยมใช้จึงเป็นสารที่สามารถแตกตัวให้ peroxide เช่น hydrogen peroxide, carbamide peroxide, zinc peroxide หรือ urea peroxide

รูปที่ 7 แสดงให้เห็นผลก่อนและหลังการใช้สารฟอกสีฟัน(4)

ผลข้างเคียงของการฟอกสีฟัน(8)

                  การฟอกสีฟันมีผลข้างเคียงที่พบได้คือ อาการเสียวฟัน และการระคายเคืองเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งจะกลับสู่สภาพปกติได้เองเมื่อไม่ได้สัมผัสกับสารฟอกสีฟัน สำหรับในผู้ที่มีฟันผุ เหงือกอักเสบ ฟันร้าว หรือแม้กระทั่งเหงือกร่นนั้นไม่เหมาะที่จะฟอกสีฟัน เพราะจะทำให้เสียวฟันมากกว่าปกติ ต้องรักษาฟันและเหงือกให้อยู่ในสภาพที่ดีก่อนจึงจะฟอกสีฟันได้ ดังนั้น ถ้าต้องการทำให้สีของฟันขาวขึ้นควรพบทันตแพทย์เพื่อปรึกษาเลือกใช้วิธีที่เหมาะสม หากมีเหงือกอักเสบ มีหินปูน ก็ต้องขูดหินปูน ทำความสะอาดฟัน หากมีฟันผุก็ต้องอุดฟันเสียก่อน และหากฟันซี่ไหนที่ต้องรักษารากฟันก็ต้องทำให้เรียบร้อยเสียก่อน ส่วนฟันที่ผุจนรักษาไว้ไม่ได้ก็ควรต้องถอนก่อนฟอกสีฟัน

การปฏิบัติตนหลังการฟอกสีฟัน(4)

  • ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ชา กาแฟ ไวน์แดง อาหารและเครื่องดื่มที่มีสีเข้ม
  • ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มร้อนจัด หรือเย็นจัด
  • ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัดใน 2 สัปดาห์แรก
  • ควรหลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากและยาสีฟันที่มีสีเข้มด้วยเช่นกัน
  • ควรใช้ยาสีฟันที่ใช้ร่วมกับการฟอกสีฟันโดยเฉพาะ

            จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการใช้สารเพื่อฟอกสีฟันนั้นจะเป็นกลุ่มของ hydrogen peroxide หรือสารที่ให้ hydrogen peroxide ซึ่งการใช้สารเหล่านี้บางส่วนต้องใช้โดยทันตแพทย์ บางส่วนสามารถนำไปใช้เองได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพฟันของเราด้วย เช่น ฟันผุมีรอยรั่วของสารอุดฟันหรือไม่เพราะอาจเกิดอันตรายได้ การดูแลสุขภาพฟันนั้นควรพบทันตแพทย์ปีละ 2 ครั้ง และแปรงฟันให้ถูกวิธี เมื่อแน่ใจว่าฟันเราดีแล้ว การใช้สารฟอกสีจึงจะมีความปลอดภัย นอกจากนี้แล้วการทำให้ฟันขาวยังมีอีกหลายวิธี เช่น เลเซอร์ แสงสีฟ้า และการใช้แสงเย็น เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. http://animaldiversity.ummz.umich.edu/site/topics/mammal_anatomy/tooth_structure.html
  2. อารทรา ปัญญาปฏิภาณ. ผลิตภัณฑ์ฟอกสีฟัน ในข่าวสารด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 หน้า 5-9.
  3. http://metatray.thaidentalcenter.com/faq.html
  4. http://www.silomdental.com/dental_thai/tooth_whitening.html
  5. http://www.dentsply.com/default.aspx?pageid=203
  6. http://www.drcharlessmilecenter.com
  7. http://www.archwired.com/tooth_whitening.htm
  8. วีรวัฒน์ บัวเผื่อน และ ลภัสรดา กาญจนพัฒนกุล. การฟอกสีฟัน. https://med.mahidol.ac.th/ramaclinic/sites/default/files/public/เรื่องที่-7-การฟอกสีฟัน.doc