เสื้อคลุมในห้องผ่าตัดชนิดใช้แล้วทิ้งไม่ช่วยลดการติดเชื้อหลังการผ่าตัด

เสื้อคลุมในห้องผ่าตัดชนิดใช้แล้วทิ้งไม่ช่วยลดการติดเชื้อหลังการผ่าตัด

         Reuters Health Information: ข้อมูลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัดด้วยการสวมใส่เสื้อคลุมในห้องผ่าตัดชนิดใช้แล้วทิ้ง (perioperative disposable jacket) ในบริเวณห้องผ่าตัด พบว่าไม่ได้ช่วยลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อ แต่ต้องเสียงบประมาณในการจัดหาเสื้อคลุมไปมากถึง 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

            แนวทางการปฏิบัติซึ่งแนะนำโดย Association of periOperative Registered Nurses (AORN) ระบุให้บุคลากรทุกคนในพื้นที่ห้องผ่าตัดสวมใส่เสื้อคลุมแขนยาวเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยสนับสนุนแนวคิดนี้ทำให้มีความคิดที่จะทำการศึกษาเกี่ยวกับผลดีและค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการปฏิบัติตามแนวคิดนี้ โดย Dr.Erk Stapleton และคณะผู้วิจัยจาก Zucker School of Medicine at Hofstra/Northwell Plainview Hospital ใน New York โดยทำการรวบรวมข้อมูลการเกิดการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดในผู้ป่วยจำนวนกว่า 60,000 รายจาก 12 โรงพยาบาลในช่วงปี ค.ศ. 2014-2018 ผู้ป่วยเหล่านี้ราวครึ่งหนึ่งได้รับการรักษาก่อนจะมีการนำเอาเสื้อคลุมมาใช้นาน 26 เดือน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งได้รับการรักษาหลังจากนำเอาเสื้อคลุมมาใช้แล้ว ซึ่งผลการศึกษาพบว่าอัตราการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดที่เกิดในกลุ่มผู้ป่วยช่วงที่ไม่มีการใช้เสื้อคลุมคิดเป็นร้อยละ 0.87 ในช่วงที่มีการใช้เสื้อคลุมแล้วคิดเป็นร้อยละ 0.83 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบว่ามีการใช้เสื้อคลุมดังกล่าวนี้ไปกว่า 2 ล้านตัว และใช้เงินเพื่อจัดซื้อไปถึงกว่า 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

            ผู้วิจัยกล่าวว่า ข้อมูลการศึกษานี้จะเป็นข้อมูลที่ช่วยทำให้มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยอาจให้สวมเฉพาะในช่วงเวลาที่ทำความสะอาดผิวหนังก่อนทำการผ่าตัดเท่านั้น เนื่องจากมีข้อมูลจากการศึกษาก่อนหน้านี้ที่สนับสนุนว่าช่วยลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดได้