ชาเพื่อสุขภาพ ชาอู่หลง...ชาลดไขมัน

ชาเพื่อสุขภาพ ชาอู่หลง...ชาลดไขมัน

อ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพ (สหรัฐอเมริกา)

ปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตัวเองเพิ่มขึ้น เพราะความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปจากอดีต มีทั้งการแข่งขันสูงขึ้น ความรีบเร่งหรือจะด้วยมลภาวะต่าง ๆ รอบตัว ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวเร่งให้สุขภาพเสื่อมลง รวมทั้งการขาดการดูแลตัวเองตั้งแต่เรื่องของอาหารการกิน การออกกำลังกาย ไปจนถึงเรื่องการพักผ่อนให้พอเพียง เป็นต้น คนส่วนใหญ่จึงนิยมหันมาบริโภคอาหารและเครื่องดื่มจากธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น

“ชา” พืชสมุนไพรที่แม้จะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ชาก็ยังคงเป็นเครื่องดื่มที่ครองใจผู้คนในหลายเชื้อชาติมายาวนาน จวบจนปัจจุบันได้กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ที่รักสุขภาพ เพราะด้วยสรรพคุณในการช่วยส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคต่าง ๆ กอปรกับมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันถึงประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ

ชา ไม่ว่าจะเป็นชาเขียว ชาอู่หลง หรือชาดำ ต่างก็มาจากต้นชาชนิดเดียวกัน จะต่างกันก็ตรงกระบวนการผลิต แต่ถ้าเป็นชาที่ทำจากสมุนไพรอื่น แม้คนทั่วไปจะเรียกว่าชา แต่แท้ที่จริงไม่ใช่ชา กรรมวิธีที่แตกต่างกันในการผลิตชาทำให้ชาแต่ละชนิดมีคุณสมบัติเฉพาะต่างกัน รวมทั้งรสชาติ สี ปริมาณคาเฟอีนและสารต้านอนุมูลอิสระ แม้จะมาจากต้นชาชนิดเดียวกันก็ตาม สำหรับ ชาอู่หลง เป็นชาที่ผ่านกระบวนการกึ่งหมักหรือหมักเพียงบางส่วนไม่เกิน 20%

ชาเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันทั่วโลก และเป็นที่ทราบกันดีว่าให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟลาโวนอยด์สูง โดยเฉพาะชาอู่หลงเป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียว่าเป็นชาที่มีคุณสมบัติเด่นในการช่วยลดน้ำหนัก นอกเหนือจากการที่ไม่มีแคลอรีแล้ว ประโยชน์อื่น ๆ ที่ชาอู่หลงมีต่อสุขภาพ เช่น ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดในผู้เป็นโรคเบาหวาน          

ชาทุกชนิดจะมีสารโพลีฟีนอลที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง ในชาอู่หลงและชาเขียวมีสารโพลีฟีนอลที่ชื่อว่า อีพิแกลโลแคททีคิน แกลเลท (EGCG) ที่ให้ผลในการป้องกันโรครวมทั้งการลดน้ำหนัก การวิจัยพบว่าในชาอู่หลงยังมีสารโพลีฟีนอลที่เกิดปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชั่น หรือ Oolong Tea polymerized-polyphenols (OTPP) ซึ่งเกิดจากกระบวนการกึ่งหมักชาอู่หลง และเป็นสารหลักที่พบได้มากในชาอู่หลงแต่ไม่พบในชาเขียว นอกจากนี้ชาอู่หลงยังมีสารโพลีฟีนอลชนิดอื่น เช่น โพรแอนโธไซยานิดิน (Proanthocyanidin), อูหลงโฮโมบิส ฟลาแวนส์ (Oolonghomobis flavans), ทีอาซิเนซินส์ (Theasinesins), ทีอาฟลาวินส์ (Theaflavins) ซึ่งล้วนแต่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ย่อยไขมันได้ดีกว่าสาร EGCG ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าชาอู่หลงอาจจะช่วยลดน้ำหนักและลดการดูดซึมไขมันได้ดีกว่าชาเขียว

 

ชาอู่หลงและการลดการดูดซึมไขมัน

การวิจัยในสัตว์และอาสาสมัครพบว่า สาร OTPP ในชาอู่หลงมีผลต่อการลดและควบคุมไขมันในเลือด โดยสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไลเปส ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ภายหลังจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ลดการดูดซึมไขมัน โดยช่วยให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น และเพิ่มการขับไขมันทางอุจจาระอีกด้วย

จากการให้อาสาสมัครดื่มชาอู่หลงที่มี OTPP เป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง และวัดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดที่เวลา 3 และ 5 ชั่วโมง พบว่าระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับอาสาสมัครที่ได้รับชาหลอก

มีงานวิจัยในหนูพบว่า เมื่อให้อาหารที่มีไขมันสูงแก่หนูและให้หนูดื่มชาอู่หลงมีผลป้องกันไม่ให้หนูอ้วนและยังป้องกันไขมันเกาะตับในหนู นอกจากนี้คาเฟอีนในชาอู่หลงยังช่วยเสริมชาอู่หลงในการสลายไขมันโดยการช่วยเหลือของฮอร์โมนอะดรีนาลิน การที่ชาอู่หลงยังยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์ในตับทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไขมันบางส่วนจึงถูกขจัดออกจากร่างกาย และเพื่อพิสูจน์ผลของชาอู่หลงในการลดการดูดซึมไขมัน มีการศึกษาอื่น ๆ ที่นักวิจัยทำการวิเคราะห์ปริมาณไขมันที่ถูกขับออกทางอุจจาระ พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับชาอู่หลงมีไขมันที่ถูกขับออกในอุจจาระ 21% เมื่อเทียบกับอาสาสมัครที่ไม่ได้รับชาอู่หลงมีไขมันที่ถูกขับออกในอุจจาระเพียง 13% ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการดื่มชาอู่หลงอาจช่วยในการลดน้ำหนัก

 

ชาอู่หลงและการเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน

จากรายงานผลการวิจัยในอาสาสมัครหญิงชาวญี่ปุ่นที่มีสุขภาพดีจำนวน 11 ราย โดยเปรียบเทียบระหว่างการดื่มชาอู่หลงและชาเขียว พบว่าหลังจากที่อาสาสมัครดื่มชาอู่หลงและชาเขียวเป็นเวลา 2 ชั่วโมง อัตราการเผาผลาญพลังงานสูงขึ้นเป็น 10% และ 4% ตามลำดับ การวิจัยแสดงให้เห็นว่า การดื่มชาอู่หลงซึ่งมีปริมาณ OTPP มากกว่าชาเขียวนั้นช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่าชาเขียวถึง 2 เท่า ทั้งที่ชาอู่หลงมีปริมาณคาเฟอีนและ epicatechin gallate เพียงครึ่งหนึ่งของชาเขียว

สรุป

ชาอู่หลงคือ ชาที่มีการบ่มแบบกึ่งหมัก ทำให้ได้สารออกฤทธิ์เฉพาะที่สำคัญ ได้แก่ OTPP ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดการดูดซึมไขมัน การดื่มชาอู่หลงเป็นประจำอาจส่งผลดีต่อสุขภาพหลายด้าน เช่น ชาอู่หลงสามารถลดการดูดซึมไขมันได้โดยไปยับยั้งเอนไซม์ไลเปส ทำให้ไขมันถูกขับออกทางอุจจาระมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นกระบวนการเมตาบอลิซึม และเพิ่มการเผาผลาญไขมันภายในร่างกายอีกด้วย มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกหลายการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การดื่มชาอู่หลงสามารถลดไขมันสะสมในช่องท้อง และขนาดรอบเอว ดังนั้น การดื่มชาอู่หลงเมื่อต้องรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หรือการดื่มชาอู่หลงเป็นเครื่องดื่มประจำวันอาจเป็นตัวช่วยลดการดูดซึมไขมันเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลในการควบคุมน้ำหนักตัว อาจป้องกันภาวะอ้วนลงพุงอีกด้วยเมื่อร่วมกับการมีไลฟ์สไตล์ที่ดี

 

เอกสารอ้างอิง

  • Hara Y, Moriguchi S, Kusumoto A, Nakai M, Toyoda-Ono Y, and Segawa T (2004). Suppressive effects of oolong tea polyphenol-enriched oolong tea on post-prandial serum triglyceride elevation. Japanese Pharmacology and Therapeutics (in Japanese), 32: 335-342.
  • Komatsu T, Nakamori M, Komatsu K, Hosoda K, Okamura M, Toyama K, et. al. (2003). Oolong tea increases energy metabolism in Japanese females. Journal of Investigative Medicine, 50: 170-175.
  • Nakai M, Fukui Y, Asami S, Toyoda-Ono Y, Iwashita T, Shibata H, et. al. (2005) Inhibitory effects of oolong tea polyphenols on pancreatic lipase in vitro. Journal of Agricultural and Food Chemistry, 53: 4593-4598.
  • Nakamura J, Abe K, Ota H, Kiso Y, Takehara I, Fukuhara I, and Hirano T (2008). Lowering effects on the OTPP (Oolong Tea Polymerized Polyphenols) enriched oolong tea (FOSHU “KURO-Oolong tea OTPP”) on visceral fat in over weight volunteers. Japanese Pharmacology and Therapeutics, 36(4).
  • Nakamura J, Teramoto T, Abe K, Ohta H, Kiso Y, Takehara I, Fukuhara I, and Hirano T (2007). Lowering effects on visceral fat of the OTPP (oolong tea polymerized polyphenols) enriched Oolong tea (FOSHU "KURO-Oolong tea OTPP") in over weight volunteers. Japanese Pharmacology and Therapeutics, 35: 661-671.
  • Rong-rong H, Ling C, Bing-hui L, Yokichi M, Xin-sheng Y, Hiroshi K. Beneficial effects of oolong tea consumption on diet-induced overweight and obese subjects. Chin J Integr Med 2009;15(1):34-41.
  • Rumpler W, Seale J, Clevidence B, Judd J, Wiley E, Yamamoto S, et al. Oolong tea increases metabolic rate and fat oxidation in men. J Nutr 2001;131:2848-2852.
  • Siddiqui IA, Afaq F, Adhami VM, Ahmad N, Mukhtar H. Antioxidants of the beverage tea in promotion of human health. Antioxid Redox Signal 2004;6:571-582.