ภก.ฉัตรพิศุทธิ์ วิเศษสอน

ภก.ฉัตรพิศุทธิ์ วิเศษสอน

ทุกข์จากยา กับการดูแลผู้ป่วยด้วยจิตวิญญาณและหัวใจของความเป็นมนุษย์

            ด้วยความคาดหวังต่อการเป็นหมอยาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาเภสัชว่า วิชาชีพเภสัชกรรมไม่ใช่เป็นแค่เพียงการมีองค์ความรู้ทางด้านยา แต่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง คำถามที่ยังหาคำตอบที่แท้จริงไม่ได้นี้ยังคงวนเวียนอยู่ในความรู้สึกของ ภก.ฉัตรพิศุทธิ์ วิเศษสอน หรือที่เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ คุ้นเคยในชื่อของ ภก.ต๋อม เภสัชกรผู้ดูแลรับผิดชอบงานด้านเภสัชกรรมปฐมภูมิ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้ซึ่งได้รับรางวัลเภสัชกรดีเด่นด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมปฐมภูมิ ประจำปี พ.ศ. 2556 จากสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่ง ภก.ต๋อม ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านเภสัชกรรมปฐมภูมิ และมีโอกาสไปศึกษาการทำงานในชุมชนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดหว้า ก่อนเป็นเวลา 3 เดือน ที่นี่ ภก.ต๋อม ได้เรียนรู้ถึงความ “ทุกข์” รวมถึงการค้นพบคำตอบที่เป็นแนวทางสำคัญในการดูแลผู้ป่วยทางเภสัชกรรมให้บรรลุผลได้ นั่นคือการดูแลความทุกข์จากยา (DRS : Drug Related Suffering) โดยต้องเข้าใจปัญหาที่เกิดจากยา (DRP : Drug Related Problem) ควบคู่ไปกับการเรียนรู้เรื่องราวของผู้ป่วยและคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

            ภก.ฉัตรพิศุทธิ์ สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาได้มาทำงานที่โรงพยาบาลกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร 2 ปี ก่อนย้ายมาทำงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จนถึงปัจจุบัน

            ภก.ต๋อม เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานให้ฟังว่า ผมมีความคาดหวังในวิชาชีพที่มีมาตั้งแต่สมัยเรียน เมื่อจบออกมามีความรู้สึกว่างานที่ทำยังไม่ตรงกับสิ่งที่คาดหวัง ผมมีโอกาสได้เรียนรู้ในหลายแผนก จนย่างเข้าปีที่ 6 ผมเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับงาน และรู้สึกว่างานที่ทำทั้งหมดยังไม่ตอบโจทย์ที่คาดหวังไว้ ตั้งแต่สมัยเรียนที่มองว่างานเภสัชกรรมไม่ใช่งานที่ให้เพียงแค่องค์ความรู้ แต่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งเป็นคำตอบที่เราพยายามค้นหามานานว่าคืออะไร จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต ในตอนที่ผมได้มีโอกาสลงไปทำงานชุมชนเต็มตัวโดยไปทำหน้าที่เป็นหมออนามัยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลประมาณ 3 เดือน เนื่องจากอยากเรียนรู้งานในชุมชน ผลปรากฏว่าสิ่งที่ได้คือความ “ทุกข์” สาเหตุที่ทุกข์เพราะงานที่ผมคุ้นเคยมาตลอดเป็นงานทางด้านวิชาการความรู้มากกว่างานปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วย แต่ว่างานอนามัยจะเกี่ยวข้องกับงานส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู คือทำในทุกมิติทั้งงานชุมชนและการดูแลคนไข้ ซึ่งเภสัชกรที่จบส่วนใหญ่จะมีองค์ความรู้มาก แต่ในภาคปฏิบัติงานชุมชนข้างนอกเรายังทำอะไรไม่ค่อยได้เพราะเราตรวจผู้ป่วยไม่ได้ คุยกับชุมชนไม่เป็นจึงทำให้เกิดทุกข์ เพราะอยากช่วยแต่ช่วยไม่ได้ แต่เนื่องจากว่าการทำงานของที่นี่มีจุดเด่นคือ เรามีทีมเยี่ยมบ้านที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในชื่อ “ทีมสหวิชาชีพไม้เลื้อยกุฉินารายณ์” ซึ่งมีผู้ก่อตั้งและเป็นแกนนำคือ นพ.สิริชัย นามทรรศนีย์ แพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2556 ผมเห็นการทำงานตรงนี้จึงขออาสาทำด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีองค์ความรู้อะไรเลย และผมเริ่มเข้าใจการทำงานตรงนี้จากการที่ได้เห็นน้องกายภาพบำบัดคนหนึ่งเข้าไปดูแลคนไข้ผู้สูงอายุที่ถูกขังไม่ได้รับการดูแลทำความสะอาด โดยไม่ได้แสดงอาการรังเกียจช่วยเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้กับคุณยายเหมือนเป็นพยาบาลคนหนึ่ง ทำให้เราเกิดความประทับใจและคิดว่า “ทำไมเราถึงหลงลืมมิติเหล่านี้ไป เรามัวติดอยู่กับอะไร” ผมได้คำตอบของสิ่งที่เรียกว่า Pharm care ที่หามานาน เริ่มที่จะเข้าใจว่าการดูแลคนคืออะไร ได้เรียนรู้ในเรื่องของเวชศาสตร์ครอบครัวที่สอนให้เราทำงานด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ด้วยจิตวิญญาณ ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม คือดูแลทั้งคนและครอบครัวรวมถึงจิตใจ ซึ่งผมก็ได้นำความรู้ที่ได้จากการลงไปทำงานเยี่ยมบ้านนี้เอามาประยุกต์กับงานของเภสัชกรรมที่เป็นองค์ความรู้เดิม มาบวกกับหลักการของ Primary care ที่เน้นการเข้าถึงต่อเนื่อง ทำงานได้รอบด้าน คิดเป็นวิธีการทำงานขึ้นมาใหม่ เรียกว่า Home Pharmaceutical Care ที่จากเดิมที่เภสัชกรคอยดูแลเฉพาะปัญหาจากเรื่องยาเพียงด้านเดียว (DRP : Drug Related Problem) กลายมาเป็น (DRS : Drug Related Suffering) คือการดูแลความทุกข์จากยาร่วมด้วย ซึ่งเป็นมุมมองของเรื่องยาที่เชื่อมโยงสู่ความทุกข์ของคนไข้โดยใช้มิติของจิตวิญญาณเข้าไปดูแล โดยเราจะไม่ได้เน้นเฉพาะเรื่องของ DRP อย่างเดียว แต่จะเน้นว่าคนไข้ที่ได้รับยาไปต้องมีความสุขและคุณค่า สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าคนไข้อยู่โดยไม่มีความสุข ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากยา วิธีการรักษา หรือคนดูแลก็ตาม โอกาสที่เขาจะไม่ทำตามคำแนะนำของเรานั้นมีสูง คนไข้บางรายกินยาแล้วกลับทำงานไม่ได้ ชีวิตก็ขาดคุณค่าไป หรือคนไข้บางรายแพทย์สั่งให้กินยาตอนเที่ยงคืน และคนไข้สูงอายุจะตื่นมากินยาอย่างไร ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้แต่เดิมเราไม่เคยมองถึงความสุขกับคุณค่าชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณของคนไข้เลย ผมจึงได้ร้อยเรียงเรื่องนี้เข้ามาและพัฒนาเป็นระบบ Drug System in Primary Care (DSP) คือเป็นระบบยาที่เหมาะสำหรับคนไข้เฉพาะรายที่สามารถเข้าถึงยาได้ ไม่ว่าคุณจะเดินทางมาหาหมอได้หรือไม่ จะอยู่ที่ไหน หากสมควรได้ยารักษา เภสัชกรต้องนำพายานั้นไปให้ถึงผู้ป่วยให้จนได้ โดยผมมียาที่ตัวเองใช้เป็นคติประจำใจอยู่เสมอในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เป็นยา 3 ขนานกับการดูแลผู้ป่วย ได้แก่ ยาขนานแรกคือยาจริงที่เราเห็นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ดหรือยาน้ำที่ใช้สำหรับรักษาคน เรามีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการใช้ให้มีความเหมาะสมปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ยาขนานที่สองคือ ยาใจซึ่งก็คือการที่เราไปช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเขา โดยเฉพาะเวลาที่มีคนป่วยหนักขึ้นมา เพราะครอบครัวคือยาใจที่สำคัญที่สุดในการรักษา เป็นพลังใจในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้น หน้าที่หนึ่งของเราคือ ต้องเข้าไปช่วยเหลือทำให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการเยียวยาดูแลผู้ป่วยได้ สิ่งนี้ก็เป็นหน้าที่ของเภสัชกรในการเยียวยาใจเช่นเดียวกัน และยาสุดท้ายคือ หมอยาซึ่งก็คือตัวเราเอง ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก และสำคัญยิ่งกว่ายาเม็ดใด ๆ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราลงไปดูแลที่บ้าน คนไข้จะดีใจมาก เพราะฉะนั้นเวลาที่ทำงานผมจะคิดเสมอว่าต้องดูแลยาให้ครบทั้ง 3 อย่าง คือ ยาจริงที่เราต้องดูแลให้ครบองค์รวม ยาใจที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในครอบครัว และต้องทำตัวเป็นหมอยาที่ต้องลงไปดูแลผู้ป่วยได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ทอดทิ้งเขา ต่อสู้ร่วมกับเขาจนกว่าจะถึงที่สุด

            “ตอนนี้ผมตอบโจทย์ให้กับตัวเองได้แล้วว่า สิ่งที่ผมเรียกว่า Pharmacist care คือตัวเราเองลงไปดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด ได้สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเขา สิ่งนี้เป็นความต้องการที่ผมเรียนจบมาและคาดหวังว่าจะเป็นหมอยาที่ดี ที่ลงไปดูแลคนไข้ คล้ายกับวิชาชีพแพทย์ พยาบาล หรือวิชาชีพสาธารณสุขอย่างอื่น ๆ ที่ลงไปดูแลคนไข้โดยตรง โดยใช้องค์ความรู้ของเราเข้าไปดูแลเขา มิติของการดูแลจึงไม่ใช่เพียงแค่คำแนะนำ แต่เป็นการลงมือทำ และจากสิ่งที่ผมเรียนมาทั้งจากตำราเรียนในมหาวิทยาลัยและการได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากตำราชีวิตของการทำงานจริง ผมนำมาประยุกต์จนเกิดเป็น Pharm care อย่างที่คาดหวัง ซึ่งการที่มีโอกาสลงไปทำงานกับคนไข้จริง ๆ ผมได้พบความสุข และยังสามารถทำงานร่วมกับแพทย์ได้ โดยแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรค ส่วนเราวินิจฉัยยาและดูแลต่อเนื่องให้ แพทย์ก็สบายใจและมั่นใจ เภสัชกรก็สุขใจ ทำงานเชื่อมโยงกันร้อยเรียงกันได้ เรียกว่าเป็นเภสัชกรรมองค์รวม”

            ภก.ต๋อม กล่าวถึงความสำคัญของงานบริบาลเภสัชกรรมปฐมภูมิให้ฟังด้วยว่า มีความสำคัญสำหรับประเทศไทยที่ยังไม่มีการมองถึงมิติของการดูแลด้านจิตใจและจิตวิญญาณทั้งต่อผู้ป่วยและต่อครอบครัว หรือไม่เคยมองระบบที่เข้าถึงผู้ป่วยจริง ๆ เป็นการเพิ่มเติมระบบเดิมที่เรามองแค่เรื่องของประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความถูกต้อง แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ของผู้ป่วยจริง ๆ ที่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามามากมาย ทั้งในเรื่องของครอบครัว สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ ซึ่งในมุมมองเดิมเราแก้ไขคำตอบไม่ได้ ผมรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงและตกผลึกออกมารวบรวมเป็นความรู้ต่าง ๆ จนกลายมาเป็นรูปแบบการทำงานแบบนี้ได้ โดยสิ่งที่ผมวัดความสำเร็จ ผมไม่ได้วัดจากความภูมิใจของตัวเอง แต่วัดจากสิ่งที่เราได้รับก็คือ จากครูบาอาจารย์หลายท่านที่ให้เกียรติเราไปเผยแพร่ความรู้นี้ ทั้งในแวดวงของเภสัชกรรม แวดวงของหมอและพยาบาล รวมถึงรางวัลเภสัชกรดีเด่นที่ได้รับ ผมภูมิใจมาก ๆ สำหรับการทำงานในวิชาชีพนี้ ผมถือว่าเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่มากและเป็นที่สุดแล้วในการทำงานในวิชาชีพเภสัชกรรม สำหรับตัวผมไม่อยากได้รางวัลอื่น แต่อยากได้รางวัลนี้มาก เพราะเป็นบทพิสูจน์ที่เป็นที่ยอมรับของวิชาชีพเดียวกัน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมทำก็เพื่อต้องการพัฒนาวิชาชีพของเราให้ทุกคนได้เห็น เนื่องจากการทำงานตรงนี้มีจุดเด่น 2 อย่างคือ เราต้องมีความรู้ทางวิชาการเชิงลึก ต้องแม่นมาก ทั้งในเรื่องของยา เรื่องของโรค เรื่องของการดูแลพยาบาล หรือเรื่องของการดูแลกายภาพที่เราต้องทำงานเชื่อมกัน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่หลายหลาย โดยผมยึดหลักการที่ว่า “ความรู้อื่น ๆ ต้องทำให้ได้ ความรู้ประจำต้องทำให้เด่น” ทำให้ขณะนี้ผมอ่านหนังสือหนักมาก หนักยิ่งกว่าตอนสมัยเรียนเสียอีก นอกจากนี้จุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ และการทำงานด้วยจิตวิญญาณ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และความรู้สึกเหล่านี้เราไม่สามารถไปหาจากที่ไหนมาเติมเต็มถ้าเราไม่เคยลงไปดูแลคนไข้ ซึ่งผมเชื่อว่า ถ้าใครที่มีโอกาสได้ลงไปดูและหาความทุกข์ของคนไข้เจอ คุณก็จะรู้เองว่าจะช่วยเขาอย่างไร สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ

            อย่างไรก็ตาม ภก.ต๋อม ยังได้กล่าวถึงความยากของการทำงานบริบาลทางเภสัชกรรมปฐมภูมิให้ฟังด้วยว่า อันแรกเลยคือ กรอบแนวคิด (Mind Set) หรือตัวกำหนดจิตสำนึกในการดูแลใส่ใจคนไข้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งนี้กรอบแนวคิดที่เราถูกหล่อหลอมมาจากสมัยเรียนจะเน้นที่ต้องดูแลยา โดยลืมมิติการดูแลคน ซึ่งจริง ๆ แล้วผมเชื่อว่าถ้าเราเปลี่ยนกรอบแนวคิดโดยเริ่มต้นมาดูแลที่คนทั้งคนก่อน (ทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ) แล้วจึงค่อยเชื่อมโยงมาถึงการดูแลยา การเปลี่ยนกรอบแนวคิดเพียงเท่านี้ก็สามารถเปลี่ยนทุกอย่างและทำให้เราเข้าใจถึงบทบาทการทำงานของวิชาชีพเภสัชกรรมมากขึ้น เพียงแต่ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับคนที่ถูกหล่อหลอมมาหลายปี ท้ายสุดนี้ภก.ต๋อม ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความสุขที่ได้รับจากการทำงานตรงนี้ว่า ความสุขที่ได้รับจากการดูแลคนไข้คือ เวลาที่ทำงานกับคนไข้เหล่านี้ เรารู้สึกเป็นเจ้าของคนไข้ต่างจากเดิมที่เราทำงานห้องยาอย่างเดียว มีหน้าที่จ่ายยาแต่แทบจะจำกันไม่ได้ การทำงานตรงนี้เราต้องดูแลเขา ทำทุกอย่างจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย ทำให้เกิดเป็นความรู้สึกผูกพัน เวลาคนไข้มีอาการดีขึ้นแค่เพียงเล็กน้อยแม้จะยังไม่ถึงปกติก็ตาม เราก็รู้สึกดีใจมาก