ภก.ธีรวุฒิ พงศ์เศรษฐไพศาล

ภก.ธีรวุฒิ พงศ์เศรษฐไพศาล 
การมีความจริงใจและการสร้างความเชื่อมั่นคือหัวใจของความสำเร็จ

เภสัชกร คือผู้ที่มีวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข ทำหน้าที่ดูแลให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยา รวมถึงการผลิตยา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบทบาทหน้าที่ของแต่ละท่านว่าจะเลือกสวมหมวกใบใด แต่สำหรับ ภก.ธีรวุฒิ พงศ์เศรษฐไพศาล หมวกที่ตัวเองเลือกนอกจากจะเป็นการดูแลร้านยา ให้คำปรึกษาแก่คนในชุมชนแล้ว ภก.ธีรวุฒิ ยังได้แบ่งเวลามาทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสังคมมาตลอดจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าบางครั้งงานที่ทำจะต้องแลกกับการเจ็บตัวก็ตาม

ภก.ธีรวุฒิ สำเร็จการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากจบการศึกษาได้เข้าทำงานในบริษัทยาเอกชนหลายแห่ง ก่อนมาเปิดร้านยาของตนเองได้ประมาณ 2 ปี ก็ได้มีรุ่นพี่ที่นับถือมากชื่อ ภก.สุกิจ ภัทรธีรกุล ซึ่งเป็นกรรมการสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ในขณะนั้นชวนมาทำงานในตำแหน่งอุปนายกของสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) อยู่ 3 สมัย โดยเริ่มรับผิดชอบฝ่ายฐานข้อมูลทำเว็บไซต์ www.pharcpa.com ขึ้นเป็นครั้งแรก ร่วมกับน้อง ๆ ในทีม ได้แก่ ภก.ชิดพงษ์ กวีวรวุฒิ, ภก.วิวัฒน์ ถาวรวัฒนยงค์ และ ภก.ผศ.ดร.วันชัย ตรียะประเสริฐ จากนั้นจึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) 2 สมัย ในปี พ.ศ. 2550-2551 และปี พ.ศ. 2552-2553 ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 22 ปีที่ ภก.ธีรวุฒิ ได้ตั้งใจทุ่มเทให้กับการทำงานให้วิชาชีพเภสัชกรรมนั้น ภก.ธีรวุฒิ ได้มาบอกเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ไม่ใช่จะพบกับความราบรื่นตลอด บางครั้งอาจจะต้องเจ็บตัวด้วย โดยเฉพาะการทำงานในช่วงที่รับตำแหน่งนายกสมาคมฯ และกรรมการสภาเภสัชกรรมเพื่อพัฒนาปรับหลักสูตรการเรียนของคณะเภสัชศาสตร์จากหลักสูตร 5 ปี เป็น 6 ปี

“ในระยะที่ผมดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ผมได้เป็นกรรมการประชาสัมพันธ์ ของสภาเภสัชกรรม ซึ่งมี ภก.ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เป็นนายกสภาเภสัชกรรมในขณะนั้น เราจัดการสัมมนาเกี่ยวกับทางด้านวิชาชีพ โดย 3 เรื่องหลักที่ทำขณะนั้นคือ การศึกษา เภสัชกรแขวนป้าย และการผลักดันให้ร้านยาเข้าไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ 3 เรื่องนี้ถือเป็นพันธกิจที่เราคิดว่าเป็นการพลิกโฉมในวงการเภสัชกรรม โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษาที่ทุกคนมีความเห็นพ้องตรงกันหมดว่าควรจะก้าวไปข้างหน้า จึงเกิดเป็นมติร่วมกันจัดทำหลักสูตร 6 ปีขึ้น แม้ว่าเรื่องนี้ทำให้มีเสียงคัดค้านจากภาคการศึกษามากก็ตาม แต่คณะกรรมการสมัยนั้นก็ไม่ย่อท้อที่จะเดินหน้าต่อไป โดยเราได้จัดตั้งกรรมการชุดต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อให้โครงการหลักสูตร 6 ปี มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น จัดตั้งกรรมการจากสภาเข้าไปกำกับในด้านการศึกษาของสถาบันการศึกษาว่าเราจะรับรองสถาบันการศึกษาเพิ่มขึ้นจากแต่เดิมที่เรารับรองเฉพาะวุฒิการศึกษาเพียงอย่างเดียว”

ภก.ธีรวุฒิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การรับรองสถาบันการศึกษาในหลักสูตร 6 ปี เราต้องดูใน 2 มิติด้วยกันคือ มิติของคณาจารย์ว่ามีมากเพียงพอเหมาะสมกับนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นโดยยึดครรลองที่ควรจะเป็นให้มากที่สุด จึงทำให้หลาย ๆ มหาวิทยาลัยมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มจำนวนอาจารย์ เนื่องจากเรามองเห็นว่าถ้าไม่จัดทำหลักสูตร 6 ปีก็จะมีปัญหาในเรื่องของการเปิดสถาบันใหม่ ๆ ขึ้น โดยเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องสำคัญที่อาจจะทำให้การเปิดมหาวิทยาลัยเหล่านั้นลดลง รวมทั้งคุณภาพที่เพิ่มขึ้น เพราะจะติดปัญหาในเรื่องของอาจารย์ ซึ่งนอกจากในเรื่องของจำนวนอาจารย์แล้ว เรายังได้เข้าไปกำกับดูแลในเรื่องของอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอนนิสิต นักศึกษา รวมถึงแหล่งฝึกอบรม เพราะการที่จะทำให้นักศึกษาออกมาและทำงานในวิชาชีพได้เลยจะต้องพัฒนาในด้านการฝึกอบรม ทั้งนี้หลักสูตรเดิมที่เป็นมามีการฝึกงานภาคบังคับ 600 ชั่วโมงซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้นักศึกษามีสมรรถนะที่จะปฏิบัติด้านวิชาชีพได้ 100% จึงจำเป็นต้องปรับหลักสูตรเป็น 6 ปี ซึ่งสภาในตอนนั้นไม่ได้คิดเพิ่มจำนวนหน่วยกิต แต่อยากให้จำนวนหน่วยกิตลดลงในบางแห่งหรือเท่าเดิม เพราะต้องการเพิ่มในส่วนของการฝึกงานจากแต่เดิม 600 ชั่วโมง เป็น 2,000 ชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรฐานของ PharmD ที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าผู้ที่ผ่านการศึกษาระดับ PharmD สามารถปฏิบัติงานได้ทันทีในการดูแลผู้ป่วยภายหลังจากสำเร็จการศึกษา โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของวิชาชีพจากการจ่ายยา (Dispensing) มาเป็นการดูแลผู้ป่วย (Pharmaceutical care) โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient oriented) ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องได้บัณฑิตที่มีสมรรถนะสูงในการดูแลผู้ป่วย

“ยอมรับว่าเรื่องนี้ทำให้เราเจ็บตัว โดยผลที่ตามมาคือ การเลือกตั้งครั้งที่ 2 กลุ่มเราถูกแรงต้านและไม่ได้รับเลือกเข้ามา แต่สิ่งนี้ก็ทำให้เกิดกระแสในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาชีพ ซึ่งกรรมการสภาในยุคนั้น รวมถึงตัวผมในฐานะที่เราเป็นตัวแทนทางวิชาชีพ และใส่หมวกหลายใบ การที่ผมอยู่เฉย ๆ แม้จะเป็นเรื่องดีที่ไม่ต้องเหนื่อยหรือเสียเวลาในการทำงานประจำของตนเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น แต่เมื่อผมตัดสินใจเข้ามาทำงานในส่วนนี้แล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะสิ่งสำคัญที่เราต้องการคือ ทำให้วิชาชีพเภสัชกรรมอยู่แถวหน้า และอย่างน้อยในฐานะที่เราอยู่ร้านยามานาน คนทั่วไปมักจะมองเภสัชกรว่าเป็นหมอตี๋ เรารู้สึกเจ็บปวด ดังนั้น จึงถึงเวลาหรือยังที่เราจะทำอะไรเพื่อวิชาชีพ และเมื่อมีโอกาสเราจึงต้องโดดเข้ามา ไม่เช่นนั้นผมคงทำงานในตำแหน่งนายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) เพียงอย่างเดียว ไม่ลงสมัครตำแหน่งกรรมการสภาเภสัชกรรมอีกตำแหน่ง แต่ที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะโครงสร้างของกรรมการสภาเภสัชกรรมไม่เอื้ออำนวยให้นายกสมาคมฯ เข้ามาเป็นกรรมการ ซึ่งผมเห็นว่า ถ้านายกสมาคมไม่ได้เข้ามาอยู่ในสภาเภสัชกรรมในช่วงนั้นแล้ว เราคงไม่สามารถขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ให้เป็นบูรณาการของวิชาชีพขึ้นมาได้ ผมจึงตัดสินใจสมัครเข้ามาเพื่ออาสาทำการนี้”

ภก.ธีรวุฒิ ยังได้กล่าวถึงคติในการทำงานให้ฟังว่า “ผมเป็นคนพุทธ ผมยึดถือหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา เวลาที่ทำงานหรือประสบปัญหาผมจะยึดหลักอิทธิบาท 4 ซึ่งประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา คือ เอาใจใส่จดจ่อกับงานที่ทำ มีความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อก็จะทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะมีอุปสรรคก็ตาม เพราะถ้าเรามองอะไรเป็นอุปสรรคที่ยากต่อการชนะมันได้แล้วก็คงจะไม่ได้ทำอะไร เมื่อมีอุปสรรคหรือปัญหาเราก็ต้องแก้กันไปด้วยปัญญา เนื่องจากผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย ในความคิดของเราทุกคนที่เราทำงานต่าง ๆ ก็ไม่ใช่เพื่อเฉพาะตัวเราเท่านั้น แต่เราต้องคิดถึงคนอื่นด้วยเสมอ ที่สำคัญผมไม่ได้ทำงานคนเดียว ผมมีคณะกรรมการที่ร่วมกันคิด ร่วมกันทำทุกอย่าง ผมไม่ได้เก่ง แต่ผมได้ทีมที่ดีและมีความสามัคคีเท่านั้นเอง

นอกจากนี้ ภก.ธีรวุฒิ ยังได้กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการทำงานให้ประสบความสำเร็จว่า ผมคิดว่าเราต้องมีความจริงใจต่อกัน และเราก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นในสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมงาน เหมือนกับที่เราปฏิบัติวิชาชีพในร้านยา เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าให้เขาเกิดความไว้วางใจต่อเรา และเมื่อลูกค้ามีความไว้วางใจเขาก็จะกลายเป็นลูกค้าประจำ วิธีนี้ผมก็นำมาใช้กับการทำงานเช่นกัน ดังนั้น กับกรรมการหลาย ๆ ท่าน รวมถึงคนที่เราคบหา รู้จัก หรือคนที่เราต้องติดต่องาน เราต้องสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจให้แก่เขา เราถึงจะได้อะไรกลับคืนมา

ทั้งนี้ ภก.ธีรวุฒิ ได้เล่าถึงความประทับใจตลอดระยะเวลากว่า 22 ปีที่ทำงานให้ฟังว่า สำหรับความประทับใจในการทำงานทั้งหมด คือการได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากความร่วมมือของน้อง ๆ และเพื่อน ๆ พี่ ๆ ทำให้งานหลาย ๆ อย่างสำเร็จลง แม้ว่าบางครั้งอาจจะต้องพบกับปัญหา หรือต้องนำภาคการเมือง เช่น ระดับรัฐมนตรีเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อถ่ายทอดในสิ่งที่เราทำ หรือคิดที่จะทำให้ภาครัฐได้เข้าใจ โดยสมัยที่ผมเป็นนายกสมาคมฯ ผมได้เชิญรัฐมนตรีมาเปิดงาน ซึ่งสิ่งที่ทำไม่ได้ทำเพื่อให้งานดูยิ่งใหญ่ แต่ผมต้องการให้เขาได้รู้ว่าในวิชาชีพของเราทำอะไรกัน เนื่องจากเราทำและเรารู้แต่เฉพาะในวงของเราคงไม่ได้ แต่ต้องทำให้คนอื่น ให้สังคมรับรู้ในสิ่งที่พวกเราทำด้วย

สำหรับความรับผิดชอบในปัจจุบัน ภก.ธีรวุฒิ กล่าวว่า นอกจากทำงานที่ร้านยาของตนเอง โดยให้ร้านยาเป็นแหล่งฝึกให้แก่นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และเป็นที่ปรึกษาบริษัทเครื่องสำอางแห่งหนึ่งของคนไทยแล้ว ผมยังเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ โดยร่วมกับ ภญ.ผศ.ดร.นิตยาวรรณ กุลนาวรรณ เปิดวิชาใหม่ที่ทำงานร่วมกับชุมชนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เนื่องจากเราคิดว่าถ้าเราทำให้เขาเห็นประจักษ์ถึงความสำคัญของเภสัชกรหรือวิชาชีพเภสัชกรรมแล้ว ต่อไปเภสัชกรจะเข้ามาอยู่ในระบบได้ เพราะในปัจจุบันเภสัชกรถูกลิดรอนมาก ที่สำคัญผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเกิดกับคนไข้ซึ่งในระดับ รพ.สต. มีปัญหาจากการใช้ยามาก ถ้าเราสามารถเข้าไปช่วยได้คนละเล็กละน้อย คนละไม้ละมือ ช่วยให้คนไข้คนหนึ่งดีขึ้นถือเป็นกุศล ถือเป็นบุญ เหมือนกับเราได้ทำบุญที่วัด เหมือนกับเราได้ช่วยทำให้สังคมดีขึ้น และทำให้นิสิตเภสัชได้ซึมซับการเป็นผู้ให้บริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วย แค่นี้ผมก็คิดว่าคุ้มค่า

ภก.ธีรวุฒิ กล่าวตอนท้ายว่า สิ่งที่ผมอยากทำก็ได้ทำหมดแล้ว ตอนนี้พยายามหาเวลาให้กับตัวเอง ไปทำบุญปฏิบัติธรรม เพราะปกติผมเป็นคนสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำ นอกจากนี้สิ่งที่อยากเห็นในแวดวงเภสัชกรรมคือ อยากให้เภสัชกรทุกคนสนใจที่จะพัฒนาตนเองในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางสมาคมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งที่จะทำเพื่อประโยชน์แก่วิชาชีพและประชาชนอย่างเต็มกำลัง เพราะถ้าเราไม่ทำแล้วเราจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้สังคมยอมรับได้อย่างไร และสิ่งที่เราพยายามเรียกร้องจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมคิดว่าถ้าไม่ทำเราก็ไม่ควรจะได้ เพราะฉะนั้นจะต้องเปลี่ยนที่ตัวเอง การเปลี่ยนที่ตัวเองคือ เมื่อมีกิจกรรมอะไรถึงแม้จะยากก็ต้องพยายามทำดูก่อน ความยากอาจจะยากเพียงครั้งแรก แต่ครั้งต่อไปก็ไม่ได้ยากอย่างที่เราคิด และเมื่อทำบ่อย ๆ ก็จะเกิดทักษะ เกิดเป็นองค์ความรู้ที่จะทำให้เราสามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และทำให้วิชาชีพมีคุณค่า ทั้งคุณค่าต่อตัวเอง คุณค่าต่อสังคมรอบข้าง รวมถึงคุณค่าต่อผู้ที่เราให้บริการเขาตั้งแต่ระดับปัจเจกชน ไปสู่ระดับครอบครัว จนถึงระดับชุมชนที่เราอยู่