ภญ.วุฒิรัต ธรรมวุฒิ

ภญ.วุฒิรัต ธรรมวุฒิ 

คนเก่งมีมากมาย แต่คนที่พร้อมทุกโอกาสคงมีไม่มาก

จากจุดเริ่มต้นที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบร่วมจัดตั้งและพัฒนากระบวนการประสานรายการยา (Medication Reconciliation; MR) กับทีมสหสาขา ภายหลังจากได้หมุนเวียนปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ ของฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราชแล้ว และถึงแม้ว่าการดำเนินการในระยะแรกมีแรงต้านค่อนข้างสูงจากผู้ปฏิบัติงานที่เกรงว่าจะมีภาระงานมากขึ้น แต่ด้วยความไม่เคยยอมแพ้ บวกกับความมานะ อดทน และมั่นคงในเป้าหมายของกระบวนการ ในที่สุด ภญ.วุฒิรัต ธรรมวุฒิ เภสัชกรหน่วยบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช เภสัชกรรุ่นใหม่ผู้ซึ่งได้รับรางวัลเภสัชกรดีเด่นรุ่นเยาว์ ด้านบริบาลทางเภสัชกรรม ประจำปี พ.. 2556 จากการประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.. 2556 ของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ก็สามารถจัดตั้งและพัฒนากระบวนการประสานรายการยา หรือ MR จึงได้เกิดขึ้น และเริ่มเป็นที่ยอมรับจากพยาบาลบนหอผู้ป่วย และทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างเภสัชกรและพยาบาลเริ่มเป็นรูปร่างชัดเจนจวบจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ภญ.วุฒิรัต ยังได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในรูปแบบโครงการวิจัย เช่น โครงการสำรวจยาเหลือใช้ของผู้ป่วยนอก ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช โครงการสืบค้นประวัติการใช้ยาผู้ป่วยช่วงภาวะวิกฤติน้ำท่วม เป็นต้น นำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์ให้แพทย์และผู้บริหารได้รับทราบถึงสภาพปัญหาและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกระบวนการประสานรายการยาที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กำหนดนโยบายให้กระบวนการ MR ในโรงพยาบาลศิริราชเป็นการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพในปี พ.ศ. 2553 โดยมีทีมเภสัชกรเป็นแรงขับเคลื่อนในช่วงต้นจนถึงปัจจุบัน กระบวนการ MR สามารถขยายผลการดำเนินการไปได้ครบทุกภาควิชาทางคลินิกของโรงพยาบาลศิริราช

ภญ.วุฒิรัต กล่าวถึงกระบวนการ MR ให้ฟังว่า “จริง ๆ แล้วเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานในการดูแลผู้ป่วย โดยเราช่วยสร้างระบบขึ้นมาว่าทั้งกระบวนการในโรงพยาบาลแต่ละวิชาชีพควรมีบทบาทตรงไหน แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่จุดเล็ก แต่ก็เป็นการสร้างความปลอดภัยค่อนข้างกว้าง และเป็นเครื่องมือที่สามารถขับเคลื่อนไปทั้งระบบได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของคนไข้ที่มีนัดผ่าตัดแต่ต้องถูกเลื่อนการผ่าตัดไปเพราะไม่ได้งดยาบางตัวที่ควรงด สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว แต่โดยกระบวนการนี้จะมาช่วยตอบโจทย์หรือเป็นคำตอบว่าเราควรทำอย่างไรเพื่อลดเหตุการณ์เหล่านี้ลงได้

ประโยชน์หรือความจำเป็นที่ต้องมี Medication Reconciliation จะเกิดกับคนไข้ทั้งหมดคือ คนไข้ปลอดภัย เพราะการที่เรามีกระบวนการนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่าคนไข้มีความปลอดภัยจากการใช้ยา ใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เหมาะสมและถูกต้อง โดยทุกวิชาชีพช่วยกันดูช่วยกันตรวจสอบ นอกจากนี้เรายังพบปัญหาหลาย ๆ อย่างจากการใช้ยาของคนไข้ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ยาของคนไข้ คนไข้บางรายรับยาจากหลายแห่ง การรับประทานยาซ้ำ กระบวนการนี้จะช่วยดักจับได้ว่าคนไข้มีพฤติกรรมการใช้ยาอย่างไร จากการสัมภาษณ์คนไข้เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่เขา ซึ่งนอกจากกระบวนการความปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับคนไข้แล้ว สิ่งที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับระบบแม้ว่าสิ่งที่ทำจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ แต่ก็เป็นกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงระบบใหญ่ เป็นการพัฒนาระบบการทำงานของโรงพยาบาลได้”

ภญ.วุฒิรัต กล่าวต่อว่า การจัดทำเป็นระบบขึ้นมาได้เกิดจากความร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่าย โดยเราเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ซึ่งครั้งแรกที่ได้รับมอบหมายงานจากหัวหน้า โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบอะไรที่ท้าทายและไม่เคยทำมาก่อน ชอบทำงานใหม่ ๆ ที่ต้องคิดเอง ซึ่งในช่วงแรกทดลองทำกับพี่ ๆ พยาบาลในหอผู้ป่วย อาจเป็นการลองผิดลองถูก ค่อย ๆ เรียนรู้กันไปและเก็บรวบรวมผลการทำงาน ประโยชน์ที่ได้รับนำเสนอเป็นโปสเตอร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ จากแต่เดิมตอนเริ่มต้นเราได้รับแรงต่อต้าน แต่เมื่อเราสามารถทำให้เขาเห็นถึงผลและประโยชน์ที่ได้รับอย่างชัดเจน ทุกคนก็ให้การยอมรับและสนับสนุน ซึ่งจริง ๆ แล้ว โดยปกติบริบทของการทำงานจะมีเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการจัดทำระบบข้อมูลที่ชัดเจน หรือกำหนดหน้าที่ที่ชัดเจนว่าใครต้องรับผิดชอบในส่วนไหน การที่ระบบนี้เกิดขึ้นได้ต้องขอบคุณทุกคนในทีมที่ช่วยกัน

ภญ.วุฒิรัต กล่าวถึงสิ่งที่ยากที่สุดของการทำงานนี้ให้ฟังว่า “คือการประสานงาน เนื่องจากโรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่ละบริบทของแต่ละภาควิชาจะต่างกัน เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถทำรูปแบบเดียวกันกับทุกที่ได้ สิ่งที่ยากคือ การสร้างความเข้าใจในช่วงเริ่มต้นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว พอมีการเปลี่ยนแปลงมักจะมีแรงต้านมากในระยะเริ่มแรก ดังนั้น หน้าที่ของเราเหมือนกับการเป็นเซลส์ที่ต้องนำเสนอเพื่อให้เกิดความเข้าใจกับคนที่เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยากมาก กว่าจะทำให้เข้าใจและยอมรับ

หัวใจสำคัญของความสำเร็จคือ ทีม เพราะถ้าเราทำเพียงคนเดียวโดยลำพัง งานนี้คงไม่ประสบความสำเร็จ งานนี้สำเร็จได้เพราะเกิดจากการทำงานเป็นทีม ตั้งแต่ระดับนโยบายผู้บริหารได้ให้ความสำคัญลงมาลุยเอง เรามีทีมที่เหนียวแน่น คือไปไหนไปด้วยกัน มีปัญหาอะไรจะสื่อสารถึงกันตลอด นอกจากนี้เราจะรับฟังปัญหาจากผู้ปฏิบัติงานจริง และไม่นิ่งเฉยกับปัญหานั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ หรือไม่ได้เกี่ยวกับเราก็ตาม อะไรที่เราคิดว่าพอช่วยทำให้เขาพอใจก็จะทำ สิ่งนี้ทำให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำให้มุมมองทัศนคติระหว่างวิชาชีพค่อย ๆ ดีขึ้น จากแต่เดิมที่เภสัชกรและพยาบาลต่างคนต่างทำงาน แต่เมื่อได้ทำงานเชิงรุกในส่วนนี้ทำให้เราเห็นบทบาทซึ่งกันและกันชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นทีมมากขึ้น”

นอกจากนี้ ภญ.วุฒิรัต ยังกล่าวถึงกลยุทธ์ที่จะช่วยทำให้สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดีด้วยว่า อันดับแรกคือ การสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุดสำหรับการทำงานนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วงานนี้ใช้ความรู้ในเรื่องของวิชาชีพเภสัชกรรมไม่ลึกมาก แต่ที่ใช้มากคือ people skill ในเรื่องของการสื่อสาร การเข้าหาผู้ใหญ่ ทั้งนี้เราเป็นเด็ก และบุคคลที่เราต้องติดต่อสื่อสารส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ หรือผู้มีประสบการณ์ในการทำงาน เวลาที่เราเข้าไปติดต่อ เราเข้าไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ใช้ใจและความรู้สึกที่อยากช่วย เพราะฉะนั้น คำถามแรกที่เราคุยกับทุกคนคือ “มีอะไรให้ช่วยหรือไม่คะ” จากนั้นจึงค่อย ๆ เรียนรู้ ใช้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน

สำหรับความประทับใจในการทำงานนั้น ภญ.วุฒิรัต กล่าวว่า ในส่วนของคนไข้ ยกตัวอย่างเคสที่ประทับใจเป็นเคสที่โทรศัพท์มาปรึกษาเนื่องจากคนไข้แกะเม็ดยามาจึงทำให้ไม่ทราบชื่อของยา เมื่อเราขึ้นไปตรวจสอบดู และซักประวัติเพิ่มเติม ปรากฏว่าเคสนี้เป็นเคสที่ต้องผ่าตัด และคนไข้หยุดยาบางตัวก่อนผ่าตัดมาจริง แต่ปรากฏว่าคนไข้หยุดยาผิดตัว คือแทนที่จะหยุดยาละลายลิ่มเลือด คนไข้กลับหยุดยาลดไขมันจึงจำเป็นต้องเลื่อนการผ่าตัด ซึ่งถึงแม้ว่าจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็มีผลกระทบต่อคนไข้ค่อนข้างมาก บ่อยครั้งที่เราเจอและให้คำแนะนำกับคนไข้ คนไข้ขอบคุณเรา สิ่งนี้ถือเป็นคุณค่าทางใจ

นอกจากนี้เรามีความประทับใจในทีมมาก เพราะเราเริ่มกันมาตั้งแต่ต้น ซึ่งสมัยนั้นมีแรงกดดันมาก เราค่อย ๆ ผ่านมาด้วยกัน จนวันหนึ่งวันนี้สามารถเกิดขึ้นทั้งระบบ ทุกคนมีความภูมิใจและไม่มีใครพูดว่างานนี้เป็นของฉัน แต่บอกว่าเป็นของเรา อีกทั้งยังมีที่อื่น ๆ มาดูงานเหมือนกับว่าเราเป็นต้นแบบให้กับที่อื่นได้มาศึกษาดูงาน

“ณ วันนี้ เราสามารถให้คำนิยามของเภสัชกรตามความคิดของตัวเองว่า เภสัชกรเป็นคนที่ทำให้ระบบของการใช้ยาของคนไข้ดีที่สุด และทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะคนที่จ่ายยา หรือทำยา แต่เป็นคนที่ทำให้ระบบการใช้ยาของคนไข้เกิดความพร้อมและสมบูรณ์ มีความปลอดภัยสูงสุด โดยเภสัชกรเป็นคนที่ดูแลเรื่องระบบในการทำให้คนไข้มีการใช้ยาอย่างปลอดภัยเป็นมุมมองที่กว้างขึ้น”

สุดท้ายนี้ ภญ.วุฒิรัต กล่าวถึงความรู้สึกที่ต้องมาทำในสิ่งที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนด้วยว่า ในตอนเริ่มต้นที่ทำอะไรใหม่ ๆ รู้สึกว่าการที่หัวหน้า หรือใครก็ตามยื่นสิ่งใหม่ให้เราทำถือเป็นโอกาสในการพิสูจน์ตัวเอง เป็นโอกาสที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะฉะนั้น อย่ากลัว เรายินดีทำสิ่งใหม่ทุกอย่างเพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ความสามารถของตัวเอง นอกจากนี้การทำอะไรใหม่ ๆ ทำให้เราเรียนรู้อะไรได้หลายมุม เรียนรู้ในการคิดวางแผน และถ้ามีปัญหาไม่สำเร็จจะทำอย่างไร หรือถ้าเราเริ่มมาแล้วและเจออุปสรรคหรือเจอแรงต้านมาก ทุกคนคงรู้สึกว่าแย่ เราก็เก็บไว้แค่สักพักหนึ่ง แม้ว่าตัวเองจะเป็นคนโชคดี มีพี่เลี้ยง มีพี่หัวหน้า มีอาจารย์คอยดูแลสนับสนุน แนะนำว่าควรทำอย่างไรต่อไป แต่ถ้าเราไม่รู้สึกว่าต้องสู้ หรือทำอะไรต่อไปก็จะไม่เกิดผล เราเอาคำพวกนั้น เอาสิ่งที่โดนมาผลักดันเป็นแรงให้เราต้องพิสูจน์ให้เขาเห็น คุยด้วยเหตุผล ทั้งนี้เรามีคติในการทำงานว่า เต็มที่กับทุกอย่าง และเราต้องเตรียมตัวพร้อมรับโอกาสเสมอ เพราะเราไม่รู้ว่าโอกาสจะมาเมื่อไร เพราะฉะนั้น เราต้องพร้อมทั้งความรู้ แรงกายแรงใจ เนื่องจากคนเก่งมีมากมาย แต่คนที่พร้อมทุกโอกาสคงมีไม่มาก