มารู้จัก “กฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๖”

มารู้จัก “กฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.. ๒๕๕๖                                                                          - ภก.วิสุทธิ์ สุริยาภิวัฒน์

การปรับตัวเข้ากับธุรกิจการค้าต้องก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง 4 ประการคือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านเทคโนโลยี (Politic, Economic, Social and Technology : PEST) เป็นความท้าทายของการดำรงอยู่ในยุคปัจจุบันทั้งในด้านของวิชาชีพและด้านของธุรกิจการค้า ตลอดจนถึงกิจกรรมอื่น ๆ ของสังคมโลก การเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองจะรวมถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมายข้อบังคับใหม่ ๆ ดังเช่นการออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในบทความนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้น ร้านยากำลังเผชิญหน้ากับการเกิดขึ้นของ ASEAN อยู่แล้ว ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่มีการกล่าวขานถึงอย่างต่อเนื่องตลอดมา การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นสิ่งท้าทายร้านยามาโดยตลอด เทคโนโลยีทำให้เกิดร้านยาแบบลูกโซ่ที่ควบคุมเครือข่ายของตนได้ สร้างพลังต่อรองในการซื้อและการโฆษณาสู่ลูกค้าได้ เป็นคู่แข่งสำคัญของร้านยาเดี่ยว จึงเห็นได้ว่าหากประสงค์จะมีที่ยืนในกิจการร้านยาแล้ว ร้านยาต้องปรับเปลี่ยนพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อรับมือและก้าวผ่านพ้นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของ PEST ให้ได้ ในประเด็นเรื่องของร้านยาคุณภาพที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สิทธิเป็นเรื่องความสมัครใจของร้านยาเอง แต่ ณ ขณะนี้มีทางเลือกเหลืออยู่สองทางที่จะให้ร้านยาเลือกเองคือ ร้านยาเลือกที่จะพัฒนาร้านยาของตัวเองให้เป็นร้านยาคุณภาพให้ได้ หรือไม่ก็เลือกที่จะออกจากวงการร้านยาไปเลย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเอาจริงยกเครื่อง “ร้านยา”

จาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์ อย. ยกเครื่อง “ร้านขายยา” ออกกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557 คุมเข้มจ่ายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษขณะเภสัชกรไม่อยู่ร้าน หวังตอบสนองสิทธิผู้ใช้ยามากขึ้น ลั่นตรวจพบเจอโทษหนักทางจริยธรรมวิชาชีพ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ได้ออกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป เพื่อส่งเสริมให้ร้านขายยามีการพัฒนาภายใต้วิธีปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรม (Good Pharmacy Practice: GPP) และยกระดับให้พร้อมต่อการเปิดประชาคมอาเซียน มีบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตอบสนองสิทธิของผู้ใช้ยามากขึ้น และทำให้ผู้ใช้ยามีความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้น

นพ.บุญชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ได้ปรับปรุงข้อกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ และอุปกรณ์ เครื่องมือในการควบคุมเก็บรักษาคุณภาพยา อาทิ การจัดบริเวณให้คำปรึกษาด้านยา การจัดพื้นที่ตามประเภทยาอย่างชัดเจน แยกเก็บยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ยาสำหรับสัตว์ เป็นสัดส่วนจากยาอื่น ๆ กำหนดให้มีการแสดงป้ายชื่อพร้อมรูปถ่ายเภสัชกร ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ กำหนดให้ผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้าน) และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (เภสัชกรผู้ส่งมอบยา) ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรม (GPP) กำหนดเงื่อนไขในการต่ออายุใบอนุญาต และการตรวจประเมินวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมเพื่อประกอบการพิจารณาในการออกใบอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาตของผู้รับอนุญาต กำหนดให้ผู้รับอนุญาตร้านขายยาที่เปิดก่อนกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ ต้องปรับปรุงสถานที่ อุปกรณ์ และการปฏิบัติตาม GPP อย่างเป็นขั้นตอนภายในระยะเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 8 ปี นับจากกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ

วัตถุประสงค์ของกฎกระทรวงฉบับนี้

ในหมายเหตุท้ายกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๖ ระบุไว้ว่า ...เพิ่มเติมเงื่อนไขในการต่ออายุใบอนุญาต รวมทั้งกำหนดลักษณะสถานที่และอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนเพื่อยกระดับมาตรฐาน... และคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค...

การจำกัดสิทธิของร้านยาภายใต้รัฐธรรมนูญทำได้หรือไม่

เนื่องจากการออกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ เป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบการร้านยาและผู้ประกอบวิชาชีพโดยเฉพาะเภสัชกรชั้นหนึ่ง ซึ่งเบื้องต้นแล้วตามรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมีกฎหมายให้อำนาจไว้ การออกกฎกระทรวงเพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนหรือผู้บริโภค ซึ่งรายละเอียดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติไว้คือ

มาตรา ๒๙ ว่าด้วยการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นฯ … และต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย

มาตรา ๔๓ มีความว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม การจำกัดเสรีภาพนี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

จึงเห็นได้ว่า การออกกฎกระทรวงใหม่ฉบับที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นการกระทบต่อการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าจะกระทำมิได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้ว่า หากเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และออกโดยอาศัยอำนาจที่ให้ไว้ตามกฎหมาย (ในนี้คือการออกกฎกระทรวงภายใต้บทบัญญัติในพระราชบัญญัติยา) อีกทั้งยังเป็นการใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง การออกกฎกระทรวง (หรือข้อบังคับ) นั้นย่อมกระทำได้

ดังนั้น การออกกฎกระทรวงฉบับนี้จึงไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐

ข้อจำกัดของกฎหมายยา

การออกกฎกระทรวงเป็นการออกกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติยาที่มีศักดิ์ทางกฎหมายที่เหนือกว่ากฎกระทรวง ดังนั้น ข้อบังคับในกฎกระทรวงจะต้องไม่ขัดต่อข้อบัญญัติในพระราชบัญญัติยา ข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เภสัชกรชั้นหนึ่งและผู้ปฏิบัติการประเภทอื่น ๆ ไม่สามารถปฏิบัติการได้จริงในการดำเนินกิจการร้านยาจะมีอยู่ 2 ประการที่สำคัญคือ เภสัชกรชั้นหนึ่งที่มีหน้าที่ปฏิบัติการในสถานที่ขายยาจะต้องอยู่ประจำ ณ สถานที่ขายยาได้แต่เพียงแห่งเดียว (และต้องอยู่ตลอดเวลาที่เปิดทำการด้วย) อีกทั้งยังห้ามมิให้เภสัชกรชั้นหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในสถานที่ขายยา โดยตนมิได้มีชื่อเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในสถานที่นั้น ซึ่งปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติยา ในมาตราทั้งสองนี้ คือ

มาตรา ๑๔ ผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้... ขาย หรือ...ซึ่งยาแผนปัจจุบันได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาต มีเภสัชกรชั้นหนึ่งประจำอยู่ ณ สถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตลอดเวลาที่เปิดทำการ และในวรรค ๒ บัญญัติว่า... เภสัชกรชั้นหนึ่งท่านนั้นมีหน้าที่ปฏิบัติการ และต้องอยู่ประจำ ณ ... สถานที่ขายยา ... ได้แต่เพียงแห่งเดียว

มาตรา ๔๕ ห้ามมิให้เภสัชกรชั้นหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการใน... สถานที่ขายยา... โดยตนมิได้มีชื่อเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในสถานที่นั้น

ข้อจำกัดนี้เป็นโทษต่อการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างร้ายแรงที่สุด เพราะการประกอบวิชาชีพเป็นความสามารถเฉพาะตนของผู้ประกอบวิชาชีพ ดังเช่น ทนายความสามารถว่าความได้ทุกศาลทั่วราชอาณาจักร ผู้สอบบัญชีสามารถสอบบัญชีได้ทุกบริษัททั่วราชอาณาจักรเช่นกัน รวมทั้งวิศวกร สถาปนิกที่สามารถออกแบบ คำนวณแบบ รับรองแบบ ควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบแปลนได้ทุกอาคารทั่วราชอาณาจักร ทนายความผู้ว่าความในศาลไม่จำเป็นต้องเขียนหรือพิมพ์คำฟ้อง คำให้การ คำร้อง ด้วยตนเอง เป็นหน้าที่ของเสมียนทนายความทำขึ้น ทนายความมีหน้าที่ต้องลงนามในเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าว และจะต้องเป็นผู้ขึ้นศาลว่าความด้วยตนเอง ผู้สอบบัญชีก็เช่นกัน เขาไม่จำเป็นต้องทำบัญชีเอง สิ่งที่เขาทำคือการตรวจสอบให้ถูกต้องแล้วลงลายมือชื่อรับรองบัญชีที่มีนักบัญชีทำให้เท่านั้น งานอันแท้จริงที่มีเกียรติของผู้ประกอบวิชาชีพเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบต่อผลงานทั้งหมด (ทั้งชิ้นงาน) ที่สำเร็จออกมา

ดังนั้น การที่กฎหมายยาบัญญัติไว้ว่าให้เภสัชกร “ต้อง” อยู่ประจำ ณ ร้านยาตลอดเวลาที่เปิดทำการอยู่ได้เพียงแห่งเดียว อีกทั้งห้ามปฏิบัติการในร้านยาที่ตนเองมิได้มีชื่อเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในสถานที่นั้น จึงเสมือนหนึ่งการบังคับให้ทนายความว่าความได้ในศาลเดียว ผู้สอบบัญชีสอบบัญชีได้เพียงบริษัทเดียว วิศวกร สถาปนิกควบคุมออกแบบได้สิ่งก่อสร้างเดียว ซึ่งเป็นข้อห้ามที่ขัดกับความเป็นจริง และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพที่ร้ายแรงที่สุด สมควรได้รับการแก้ไขกฎหมายยา เพื่อให้การออกกฎกระทรวงนี้สามารถปฏิบัติได้จริง สมดังวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค

ข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับกฎกระทรวงใหม่นี้

ชาวร้านยาควรจะยินดีกับกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ เพราะหน่วยงานของรัฐเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานร้านยาที่จะต้องก้าวเข้าสู่เวทีของเศรษฐกิจ ASEAN ในสิ้นปี พ.ศ. 2558 ที่จะถึงนี้ การออกกฎกระทรวงใหม่เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ร้านยาสัญชาติไทย และยังเป็นการตีกรอบมิให้ร้านยาสัญชาติอื่นที่ไร้มาตรฐานเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยอีกด้วย จึงเป็นการกั้นคอกก่อนวัวหายนั่นเอง จึงน่ายินดีอย่างยิ่งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ได้มีส่วนอย่างมากในการดูแลร้านยาให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ด้วยความเคารพต่อผู้ที่มีส่วนร่วมในการออกกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ ยังมีรายละเอียดในภาคปฏิบัติที่จะต้องติดตามและแก้ไขข้อขัดข้อง เพื่อให้คุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง ดังเช่น

วิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน” ยังเป็นนิยามใหม่ที่ท้าทายในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะข้อความท้ายที่ว่า ...เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา เป็นเงื่อนไขที่ร้านยาแผนปัจจุบันทุกประเภทต้องปฏิบัติ (ปรากฏตามกฎกระทรวงข้อ ๑๑) เกี่ยวกับในเรื่องนี้ ร้านยาสามารถปฏิบัติได้ระดับหนึ่งอย่างแน่นอน แต่คงต้องยอมรับว่าร้านยาเป็นปลายน้ำของการใช้ยาเท่านั้น อิทธิพลจากการโฆษณาขายยาทั้งทางตรงและรูปแบบแฝง อิทธิพลของบริษัทยาข้ามชาติที่สร้างลัทธินิยมยาใหม่ให้วงการสาธารณสุขไทย การจ่ายยาของโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลของเอกชนที่มีผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ ยังทำให้มีการใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น ดังที่เป็นข่าวว่า คนไทยบริโภคยามากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และคนไทยนิยมใช้ยาตัวใหม่ ๆ ที่มีสิทธิบัตรด้วย แต่สุขภาพคนไทยกลับแย่ลง

ให้ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันทุกประเภทจัดทำบัญชีซื้อยา ขายยาควบคุมพิเศษ ยาอันตรายที่เลขา อย. กำหนด ขายยาตามใบสั่งยาฯ จัดทำรายงานขายยา ทั้งนี้ต้องทำทุกครั้งที่มีการซื้อและขาย โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของเภสัชกรชั้นหนึ่ง... เรื่องการทำบัญชียานี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ ต้องยอมรับว่าการทำบัญชีเป็นวิธีการที่ดีในการควบคุมความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง แต่ทางปฏิบัติมีเหตุขัดข้องมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของขายตามใบสั่งยาฯ และการขายยาควบคุมพิเศษ เพราะระบบใบสั่งยายังไม่มีจริงในระบบสาธารณสุขของไทย การเลือกที่จะไม่ขายยาควบคุมพิเศษและยาตามใบสั่งจึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยและไม่ยุ่งยากในทางบัญชียาด้วย กฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นสิ่งดี แต่จะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่คงเป็นเรื่องของระยะเวลา

การประเมินผลวิธีการปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ในกฎกระทรวงข้อที่ ๑๒ ให้มีหน่วยงานหรือองค์กรวิชาชีพเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจประเมินการปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน เป็นการกระจายการทำงานที่ดี แต่องค์กรหลักที่จะทำหน้าที่นี้ต้องเป็นองค์กรวิชาชีพด้านเภสัชกรรมเท่านั้น นั่นคือ “สภาเภสัชกรรม” ทั้งนี้อาจมีองค์กรรองอื่นที่ทำหน้าที่คล้ายอนุกรรมการให้ความร่วมมือช่วยเหลือ เช่น สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย), สมาคมร้านขายยา เป็นต้น ทั้งนี้สิ่งพึงสังวรก็คือ อย่าให้เกิดเหตุการณ์ดังเช่นการตรวจสภาพรถยนต์ของกรมการขนส่งทางบกที่ผ่องถ่ายงานให้เอกชนตรวจสภาพรถยนต์ที่ปัจจุบันไม่มีการตรวจจริง ทำให้รถยนต์ที่สิ้นสภาพสมบูรณ์แล้ววิ่งเกลื่อนถนนไปหมด นอกจากจะไม่เกิดความปลอดภัยแล้ว ยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นอีกด้วย

การพิจารณาไม่ต่อใบอนุญาต

กฎกระทรวงข้อ ๑๖ ที่เกี่ยวกับการพิจารณาไม่ต่อใบอนุญาตเป็นการเสริมรายละเอียดเกิดความสมบูรณ์ให้กฎหมายยาได้เป็นอย่างดี เช่น การไม่ผ่านการประเมินในด้านของ “สถานที่ขายยา” ตามที่กฎกระทรวงกำหนด ในด้านของ “ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ” ประจำอยู่ตลอดเวลาทำการ และในการด้าน “การขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ” ระหว่างเภสัชกรชั้นหนึ่งไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ แต่ในทางปฏิบัติอาจมีเหตุขัดข้องพอสมควร เพราะมีเงื่อนไขว่า นอกจากต้องถูกตรวจพบแล้ว ยังต้องได้รับโทษเสียก่อน อีกทั้งต้องฝ่าฝืนเกิน 3 ครั้งในรอบอายุใบอนุญาต ข้อนี้จึงนับว่ากฎกระทรวงฉบับนี้ยังให้ “คุณ” แก่ร้านยาในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

ส่วนในด้านของผู้รับอนุญาตฯ ก็เช่นกัน ต้องถูกตรวจพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายยา และต้องได้รับโทษก่อนถึง 5 ครั้งภายในรอบอายุใบอนุญาต จึงจะเป็นเงื่อนไขใช้พิจารณาไม่ออกใบอนุญาตให้ (ยังมิใช่คำสั่งที่เด็ดขาด) กฎกระทรวงข้อนี้ก็ยังนับว่าเป็นคุณต่อร้านยาเช่นกัน

กฎหมายที่ดีและหวังผลทางบังคับได้จริงนั้น การฝ่าฝืนกฎหมายเพียงครั้งเดียวก็น่าจะเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาไม่ต่อใบอนุญาตได้แล้ว แต่อย่างไรเสียจะต้องไม่เกิน 3 ครั้ง หรือ 5 ครั้ง เพราะว่าในทางปฏิบัติ การประเมินหรือการออกตรวจร้านยาใดปีละ 3 ครั้ง 5 ครั้ง และมีการลงโทษร้านยานั้นตามกฎหมายยา เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมาก คงมีเหตุขัดข้องทั้งด้านกำลังพลของพนักงานเจ้าหน้าที่และจำนวนร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีมากมายอย่างในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงฯ นี้เป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะอย่างน้อยก็เป็นการปรามผู้รับอนุญาตและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตระหนักให้มีสำนึกของความรับผิดชอบของตนในการดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของกฎกระทรวงฉบับนี้

กฎกระทรวงฉบับนี้ ร้านยามีแต่ได้ ได้ และได้

ร้านยาเป็นสถานบริการสาธารณสุขเบื้องต้นที่มีความสำคัญยิ่งต่อการใช้ยาของประชาชน ร้านยาในประเทศไทยสามารถขายยาอันตรายได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากผู้ประกอบวิชาชีพฯ ร้านยาสามารถซักถามอาการ ซักถามประวัติ และแนะนำการใช้ยาอันตรายให้แก่ประชาชนได้ ซึ่งการจ่ายยาลักษณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นการปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น ภายหลังการเปิดประเทศโดย ASEAN แล้ว เพื่อนบ้านย่อมปรารถนาจะมาดำเนินธุรกิจร้านยาในไทย เพื่อสร้างเครือข่ายร้านยาของเขาเอง และเป็นการกระจายยาอันตรายจากประเทศของเขาได้ด้วย จึงเห็นว่าถ้าร้านยาสัญชาติไทยของเรากันเองยังไม่รีบเร่งพัฒนาตนเองให้เป็นร้านยาที่มีคุณภาพมากขึ้น และไม่มีระบบบริหารจัดการแบบ Good Pharmacy Practice แล้ว ภายหลังเปิด ASEAN แล้ว เราก็สู้ศึกลำบากเป็นแน่แท้

การที่หน่วยงานของรัฐมีความตั้งใจจะพัฒนาคุณภาพของร้านยา อีกทั้งยอมผ่องถ่ายงานให้องค์กรภายนอกเข้ามาร่วมงานประเมินคุณภาพด้วยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในระบบราชการไทย กฎกระทรวงฯฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายที่มุ่งมั่นที่จะพัฒนาร้านยาให้เป็น “ร้านยาคุณภาพ” หรือให้มี Good Pharmacy Practice ให้ได้ โดยกำหนดระยะเวลาไว้ไม่เกิน 8 ปีนับจากวันที่กฎกระทรวงออกบังคับใช้ ในความเป็นจริงแล้ว การเปิดตลาด ASEAN นั้นจะเกิดขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2558 นั่นคืออีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้านี้ หากร้านยาสัญชาติไทยต้องใช้เวลา 8 ปีพัฒนาตัวเอง คงเป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการในอาณาจักรของเวที ASEAN แน่ สิ่งสำคัญที่บทความนี้จะสะกิดเตือนใจให้พี่น้องร้านยาได้ตระหนักคือ พวกเราควรจะเป็น “ร้านยาคุณภาพ” ให้ได้ภายในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ก่อนที่กฎกระทรวงใหม่ฉบับนี้ออกบังคับใช้ และใช้เวลาต่อจากนั้นพัฒนาร้านยาของพวกเราให้มีความเข้มแข็ง มีฐานธุรกิจที่มั่นคง เป็นที่รักของผู้บริโภคและผู้เจ็บไข้ได้ป่วย เพื่อให้ได้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของร้านยาของพวกเรา ก่อนที่จะมีการเปิดตลาด ASEAN โดยอาศัยกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้เป็นเข็มทิศนำทาง..... ผู้เขียนเห็นว่า แนวทางนี้ต่างหากที่จะสร้างความมั่นคงให้กับอนาคตกิจการร้านยาของพวกเราที่ล้วนเป็นร้านยาคุณภาพให้เจริญก้าวหน้าสถาพรบนเวทีของ ASEAN ได้ตลอดไปอย่างแน่นอน

ใครเห็นด้วยโปรด “ยกมือขึ้น” แล้วเร่งรีบปฏิบัติเสียตั้งแต่วันนี้! เพราะพรุ่งนี้อาจสายไปเสียแล้ว