พระจอมเกล้าลาดกระบัง จับมือ รามาฯ สร้างอุปกรณ์การแพทย์ เมดอินไทยแลนด์ ประเดิมโชว์ต้นแบบเครื่องให้อาหารเหลวฝีมือคนไทย

พระจอมเกล้าลาดกระบัง จับมือ รามาฯ สร้างอุปกรณ์การแพทย์ เมดอินไทยแลนด์ ประเดิมโชว์ต้นแบบเครื่องให้อาหารเหลวฝีมือคนไทย

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี อวดโฉมต้นแบบนวัตกรรมเครื่องให้อาหารเหลว หรือ Enteral Feeding Pump เครื่องแรกที่คิดค้นและผลิตจากฝีมือคนไทย ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ วิจัยและพัฒนา ระหว่าง สจล. และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ชูจุดเด่นในการเป็นผู้นำนวัตกรรมด้านสาธารณสุขของประเทศไทย

นายวสันต์ ทิมา หัวหน้างานอุปกรณ์การแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงที่มาของการจับมือกับ สจล. ในการร่วมกันผลิตนวัตกรรมด้านสาธารณสุขร่วมกันว่า การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่ขณะเดียวกันในเวลาที่เราต้องการนำอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมาใช้งาน กลับพบปัญหาด้านต้นทุนในการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศที่มีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งส่งผลกระทบให้ต้นทุนในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยมีราคาสูงตามไปด้วย

การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลรามาธิบดี และ สจล. มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมการศึกษาวิจัย และการบูรณาการองค์ความรู้ในศาสตร์ที่ทั้งสองหน่วยงานต่างมีความเชี่ยวชาญต่างกัน นั่นคือศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กับศาสตร์ด้านวิศวกรรมเข้าด้วยกัน อันจะนำไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาขีดความสามารถของอุปกรณ์นวัตกรรมด้านสาธารณสุขในรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีต้นทุนต่ำลง เพราะสามารถผลิตได้ในประเทศไทยและนำมาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ อีกทั้งยังตอบโจทย์ในแง่ของการรองรับผู้ป่วยในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวที่มักจะพบสถิติการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างบ่อย จึงเป็นช่วงที่โรงพยาบาลจะต้องเตรียมความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ในการรองรับผู้ป่วยมากกว่าปกติ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีการควบคุมด้านต้นทุนของอุปกรณ์ ดังนั้น ความร่วมมือดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยให้การปรับปรุงพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์มีความก้าวไกลยิ่งขึ้น และอาจนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยต่อไปในอนาคต

อาจารย์ดุสิต สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นักวิจัยเจ้าของผลงานนวัตกรรมเครื่องให้อาหารเหลวฝืมือคนไทย กล่าวว่า สจล. และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมสาธารณสุขร่วมกันเมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยมีระยะเวลาของความร่วมมือทั้งสิ้น 5 ปี ภายใต้กรอบการดำเนินงานวิจัยใน 4 ทิศทางด้วยกันคือ 1. การพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ 2. การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้บริการผู้ป่วย 3. การพัฒนาขีดความสามารถของอุปกรณ์ที่ช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรในโรงพยาบาล และ 4. การจัดทำระบบการสื่อสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสอนแก่คณาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ โดยบทบาทของ สจล. ภายใต้ความร่วมมือนี้คือ การนำความรู้ด้านวิศวกรรมสมัยใหม่มาช่วยในการปรับปรุง พัฒนา และคิดค้นนวัตกรรมด้านสาธารณสุขที่เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์และตัวผู้ป่วย ดังตัวอย่างของนวัตกรรมเครื่องให้อาหารเหลวทางสายยาง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีการนำระบบมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาประยุกต์ใช้ ทำให้เครื่องให้อาหารเหลวมีประสิทธิภาพในด้านการใช้งานมากขึ้นในหลายด้าน เช่น สามารถพกพาติดตัวไปในที่ต่าง ๆ ได้ เพราะตัวเครื่องได้รับการพัฒนาให้เป็นระบบชาร์จไฟในตัว ทำให้ไม่จำเป็นต้องเสียบปลั๊กไว้เมื่อต้องการใช้งาน และตัวเครื่องยังถูกออกแบบให้สามารถต่อสายยางเข้ากับถุงบรรจุอาหารเหลวชนิดสุญญากาศ ซึ่งเป็นสูตรอาหารของโรงพยาบาลรามาธิบดีได้ทันที จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของผู้ป่วยที่เกิดจากการที่อากาศภายนอกเข้าไปสัมผัสกับอาหารเหลว

นอกจากนี้นวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถต่อยอดเพื่อนำไปวางจำหน่ายได้จริงในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจากเดิมที่ต้องมีการนำเข้าเครื่องมือชนิดนี้จากต่างประเทศ โดยมีต้นทุนประมาณ 60,000 บาท แต่เมื่อคนไทยสามารถผลิตเครื่องให้อาหารเหลวได้เองก็จะทำให้ต้นทุนลดลงเหลือประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อเครื่องเท่านั้น จึงถือเป็นต้นแบบของนวัตกรรมด้านสาธารณสุขที่มีส่วนช่วยยกระดับชีวิตคนไทย

ทั้งนี้ ทาง สจล. ได้วางแผนในการพัฒนานวัตกรรมสาธารณสุขรูปแบบอื่น ๆ ในอนาคตเพิ่มเติมอีก อาทิ นวัตกรรมเตียงป้องกันแผลกดทับของผู้ป่วย เครื่องเติมน้ำสะอาดใส่เครื่องออกซิเจน เครื่องเจาะน้ำออกจากสมองชนิดจับเวลาได้ รวมไปถึงการพัฒนาสื่อการสอนนักศึกษาแพทย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์ ซึ่งผลงานทั้งหมดล้วนสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ สจล. ในปีนี้ที่มีเป้าหมายในการพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงให้แก่ประเทศในทุกด้าน โดยเริ่มต้นรากฐานด้านสาธารณสุขที่นับเป็นหนึ่งรากฐานสำคัญของคนไทยทุกคนเช่นกัน