ทำไมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงทำลายระบบสาธารณสุขไทย

ทำไมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงทำลายระบบสาธารณสุขไทย

คนทั่วไปที่ไม่ได้มีวิชาชีพทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขส่วนใหญ่แล้ว มักจะเข้าใจว่าโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดี เป็นโครงการสวัสดิการเพื่อประชาชน และบางคนที่มองเห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นสำนักงานบริหารโครงการนั้น เป็นการป้องกันไม่ให้ “นักการเมือง” เข้ามา “ล้วงลูก” การบริหารและไม่สามารถ “ทุจริตคอร์รัปชัน” งบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ แต่คนส่วนมากก็ไม่เคยได้รับทราบว่า โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่บริหารในรูปคณะกรรมการนี่เองเป็นแหล่งที่ทำให้มีแพทย์กลุ่มหนึ่งใช้เป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์จากเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนหลายแสนล้านบาทต่อปี โดยการคอร์รัปชันนี้มีทั้งในรูปแบบที่เรียกว่า “ตามน้ำ” และในรูปแบบที่แปลกประหลาดพิสดาร จนคนทั่วไปคิดไม่ถึง และยังมีการให้ “รางวัล” ในฐานะ “ผู้บริหารกองทุนดีเด่น” ติด ๆ กันมา 2-3 ปีแล้ว ทั้ง ๆ ที่บุคลากรทางการแพทย์ในภาคราชการซึ่งเป็นบุคลากรส่วนใหญ่ที่ต้องทำงาน “ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข” แก่ประชาชนในระบบ 30 บาทนั้น ต่างก็รู้ดีแก่ใจว่า การบริหารจัดการด้านการเงินในระบบ 30 บาทของ สปสช. นั้นก่อให้เกิดการตกต่ำของมาตรฐานการรักษาผู้ป่วย เนื่องจากการกำหนดรายการยาของ สปสช. และคณะกรรมการยาหลักแห่งชาติทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือเป็นโรคที่รุนแรง (ร้ายกาจ) นั้น ไม่ได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดตามที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต้องการใช้เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรค 

ทั้งนี้คนบางคนกลับคิดว่าการที่ไม่กำหนดรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้แพทย์ใช้ยาฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น และเผยแพร่ความคิดนี้ที่ว่าแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ (การแพทย์) หรือในโรงพยาบาลทั่วไป (ประจำจังหวัด) นั้นชอบใช้ยาราคาแพง แต่แพทย์โรงพยาบาลชุมชนนั้นเป็นแพทย์ที่ดี เพราะใช้ยาเฉพาะยาราคาถูกที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น
แต่คนที่คิดเช่นนี้เป็นคนที่ไม่ตระหนักถึงความแตกต่างในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลแต่ละระดับ เขานึกแต่เพียงว่างบประมาณเหมาจ่ายต่อหัวของ สปสช. นั้นควรจะเหมือน ๆ กันสำหรับจ่ายให้โรงพยาบาลแต่ละแห่ง
แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชนย่อมต้องน้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์ (การแพทย์) อย่างแน่นอน ทั้งนี้เนื่องจากโรงพยาบาลชุมชนเป็นโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคสามัญธรรมดาที่อาการไม่มากและการรักษาไม่ยุ่งยากซับซ้อน ต้นทุนการรักษาจึงมีราคาไม่แพง ตัวอย่างเช่น การเจ็บป่วยเป็นไข้หวัด ท้องเสีย ท้องผูก ปวดท้อง เป็นลม วิงเวียนศีรษะ บาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ฯลฯ

แต่เมื่อไหร่ที่การเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น เช่น จากไข้หวัดกลับลุกลามกลายเป็นหลอดลมอักเสบ ปอดบวม ปอดเป็นหนอง หรือการปวดท้องกลับกลายเป็นการมีก้อนมะเร็งที่ลำไส้ ตับ ต่อมน้ำเหลืองในท้อง ฯลฯ การรักษาก็จะต้องใช้ยาที่มี “ความแรงและมีความจำเพาะ มีประสิทธิผลสูงสุด” ในการรักษาโรคเพิ่มขึ้น ต้องใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจวินิจฉัย และ/หรือรักษาการเจ็บป่วย รวมทั้งผู้ป่วยก็ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น และยังอาจจะมีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เพิ่มเข้ามาอีก

ซึ่งในที่สุดแล้ว ต้นทุนการรักษาผู้ป่วยอาการหนักเหล่านี้ก็ย่อมที่จะมากขึ้นกว่าการรักษาโรคธรรมดา ๆ ในโรงพยาบาลชุมชนอย่างแท้จริง ฉะนั้น การจัดสรรงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลแต่ละระดับจึงต้องแตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับภาระงานในการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยของแต่ละโรงพยาบาล

เปรียบเหมือนกับการจัดสรรงบประมาณในการจัดการศึกษาเล่าเรียนให้แก่โรงเรียนหรือสถานศึกษาในระดับต่าง ๆ กันก็ต้องแตกต่างกันออกไป เช่น ระดับโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา หรือมหาวิทยาลัย ที่ต้องการอาคารสถานที่ อุปกรณ์/เทคโนโลยี/สถานที่ฝึกงาน และความรู้ความสามารถของครู/อาจารย์ในการสอนที่แตกต่างกันออกไปในสถานศึกษาแต่ละระดับ การจัดสรรงบประมาณสำหรับโรงพยาบาลในแต่ละระดับตามขีดความสามารถหรือศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยก็จำเป็นที่จะต้องแตกต่างกันไปเช่นเดียวกัน

แต่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้มีต้นกำเนิดจากแพทย์กลุ่มที่เป็นผู้รักษาพยาบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน กลุ่มแพทย์ที่เป็นผู้วางแผนการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาท) ล้วนเป็นแพทย์ที่มาจากผู้มีประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน จึงได้คิดงบประมาณค่าเหมาจ่ายต่อหัวโดยคิดเฉลี่ยเท่ากันหมดไม่ว่าจะเป็นที่โรงพยาบาลระดับใด และเมื่อมีการส่งตัวผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขึ้นจากโรงพยาบาลชุมชนไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลระดับสูงขึ้น โรงพยาบาลระดับต้น (โรงพยาบาลชุมชน) ก็ไม่ตามไปจ่ายเงินค่ารักษาที่โรงพยาบาลระดับสูงซึ่งได้แก่โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ หรือโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์) จึงทำให้โรงพยาบาลระดับสูงกว่าโรงพยาบาลชุมชนประสบปัญหาการขาดต้นทุนในการดำเนินการให้บริการรักษาผู้ป่วยมาตลอดเวลาหลังจากการมีระบบหลักประกันสุขภาพ
แม้ต่อมาจะมีการรวบเอาเงินงบประมาณเหมาจ่ายต่อหัวมาบริหารจัดการใหม่ โดย สปสช. ไม่จ่ายงบประมาณโดยตรงตามจำนวน (หัว) ประชาชนให้แก่โรงพยาบาลโดยตรง แต่ สปสช. เอางบประมาณทั้งหมดในการรักษาผู้ป่วยมาบริหารจัดการเอง และส่งเงินให้แก่โรงพยาบาลตามแต่ประเภทและตามข้อมูลสถิติและรายงานการรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลส่งให้แก่ สปสช. แต่ สปสช. ก็ไม่สามารถจัดสรรเงินให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยจริง ทำให้โรงพยาบาลแต่ละระดับประสบปัญหาขาดต้นทุนในการให้การรักษาผู้ป่วยอย่างดีตามมาตรฐานทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ตามความรู้ความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทาง (Specialist) ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหาย รักษาไม่หาย ดื้อยา และโรคลุกลามไป บางรายก็พลาดโอกาสที่จะมีสุขภาพแข็งแรงดังเดิม บางคนก็พลาดโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป หรือตายโดยยังไม่สมควรตาย

แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับภาระในการดูแลรักษาผู้ป่วยจึงสรุปได้ว่า ระบบการบริหารจัดการของ สปสช. ทำให้ระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยกลายเป็นเสมอภาคและเท่าเทียมกันแบบ “เลวเท่ากันหมด” และ “สาธารณสุข” กลายเป็น “สาธารณทุกข์”

แต่คนนอกวงการแพทย์ไม่รับทราบความจริงข้อนี้ เพราะ สปสช. และกรรมการบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ปกปิดบิดเบือนความจริงที่น่าสลดหดหู่นี้จากประชาชน สปสช. ไม่เคยยอมรับความจริงว่างบประมาณไม่คุ้มกับต้นทุนในการรักษา แต่ สปสช. จะบอกแต่เพียงผลการสำรวจว่าประชาชนพึงพอใจในระบบหลักประกันสุขภาพมากมายมหาศาลเกือบ 100% (พอใจเพราะไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษา) แต่ สปสช. ไม่เคยกล่าวถึงคุณภาพการรักษาที่ตกต่ำลงจากระบบนี้แต่อย่างใด ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่า 30 บาทสามารถรักษาได้ทุกโรคเป็นอย่างดี

นอกจากงบประมาณที่มีไม่เหมาะสมต่อต้นทุนการทำงานแล้ว ผู้รับผิดชอบในการบริหาร สปสช. ยังฉวยโอกาสตักตวงผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรมาให้เป็นค่าดูแลรักษาประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย คอร์รัปชันจากการจัดซื้อจัดจ้าง คอร์รัปชันในการบริหารงาน และการเอางบประมาณค่ารักษาประชาชนไปให้ผลประโยชน์แก่กลุ่มของตน ไปดูงานต่างประเทศ (ไปเที่ยว อ้างการดูงานบังหน้า) หรือแม้แต่เอาไปให้เป็นทุนการศึกษาแก่พวกพ้องชมรมแพทย์ชนบท

การคอร์รัปชันเหล่านี้ บางครั้งก็มีการตรวจสอบแล้วจาก สตง. แต่ยังไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิด และยังมีการคอร์รัปชันที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอีกมากมาย เป็นการคอร์รัปชันโดยผู้บริหารและคณะกรรมการที่ไม่ดูแลแก้ไขและตรวจสอบ ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณไปสู่ผู้ทุจริตทุก ๆ ปี และทำให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาที่ไม่มีมาตรฐานทางการแพทย์ที่เหมาะสมเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต
จึงสมควรที่จะมีการตรวจสอบและรื้อระบบการจัดสรรงบประมาณและการบริหารงบประมาณของโครงการหลักประกันสุขภาพโดยด่วน ทั้งนี้เพื่อให้งบประมาณแผ่นดินไม่ตกไปอยู่ในกลุ่มผู้บริหารองค์กรอิสระโดยมิชอบ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ในการดูแลรักษาสุขภาพอย่างดี มีมาตรฐาน ปลอดภัย และงบประมาณแผ่นดินตกถึงมือประชาชนอย่างเต็มที่ และระบบบริการสาธารณสุขไม่ถูกทำลายให้อ่อนด้อยลงไปอีก