การใช้ Oncothermia รักษามะเร็ง ครั้งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

การใช้ Oncothermia รักษามะเร็ง ครั้งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

มะเร็งถือเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตของคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของประเทศไทย พบว่ามะเร็งตับ และมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้ชาย และผู้หญิง ตามลำดับ ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับผลการรักษาให้ดีขึ้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติมีนโยบายอยู่ 2 ด้านคือ ทำการส่งเสริมสุขภาพ และมีการตรวจคัดกรองเพื่อเพิ่มสัดส่วนของผู้ป่วยในระยะแรกให้มากขึ้น และสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัย หรือพัฒนานวัตกรรมการรักษาพยาบาลวิธีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มอัตราการอยู่รอดในผู้ป่วยระยะปลาย มองหาเทคโนโลยีใหม่เพื่อนำมาใช้ร่วมกับการรักษาตามมาตรฐานที่มีข้อจำกัดอยู่ในปัจจุบัน และทำการประเมินประสิทธิผลของกระบวนการรักษาดังกล่าวตามนโยบายของกรมการแพทย์ จึงเป็นที่มาของการทำการวิจัย “การใช้ Oncothermia รักษามะเร็งครั้งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน” โดยมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์, นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และ นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการวิจัย (หัวหน้าทีมวิจัย) ร่วมแถลงข่าว

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีใช้ความร้อนเพื่อเป็นการรักษาทางเลือก หรือร่วมรักษาในโรคมะเร็ง ปัจจุบันมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ

1. การใช้ความร้อนระดับต่ำอยู่ที่ 38-40 องศาเซลเซียส เป็นวิธีที่ทำให้เกิดความร้อนทั้งตัว โดยคาดหวังว่าความร้อนนี้จะทำให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อให้สามารถต่อสู้กับมะเร็งได้

2. การใช้ความร้อนระดับปานกลาง โดยใช้อุณหภูมิประมาณ 42-43 องศาเซลเซียส เฉพาะที่กับตัวมะเร็ง โดยคาดหวังว่าจะทำให้เกิดกระบวนการตายของเซลล์มะเร็งโดยไม่ทำให้เกิดการอักเสบ ได้แก่ เครื่อง Oncothermia

3. การใช้ความร้อนระดับสูงประมาณ 60-90 องศาเซลเซียส ซึ่งการใช้ความร้อนระดับนี้จำเป็นต้องมีการกำหนดเป้าหมายในการทำลายเซลล์มะเร็งไปยังตำแหน่งเฉพาะที่ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงได้ เช่น เครื่อง HIFU

“อย่างไรก็ตาม เครื่องให้ความร้อนระดับปานกลาง หรือ Oncothermia มีการนำมาใช้งานจำนวนมากในต่างประเทศ ทั้งประเทศในแถบทวีปยุโรป และเอเชีย แต่สำหรับในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทยมีการนำมาใช้ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติเป็นแห่งแรก โดยได้รับบริจาคมาจากภาคเอกชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และเนื่องจากการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งโดยการใช้เครื่อง Oncothermia ในประเทศไทยยังไม่เคยมีการทำการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบมาก่อน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบนโยบายให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติทำการศึกษา วิจัยการทำงานของเครื่องนี้ เพื่อประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และหากผลการศึกษาพบว่า การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีนี้ได้ผลดีและมีความคุ้มค่าเพียงพอ ประกอบกับเครื่องมือนี้มีราคาไม่แพงมากนัก กรมการแพทย์จะสนับสนุนให้โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องมีเครื่อง Oncothermia ไว้ใช้เพื่อให้บริการผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต โดยหลังจากที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้มีการศึกษาวิจัย และทำการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยเครื่องมือ Oncothermia มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงจัดให้มีการแถลงผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นเพื่อให้สื่อมวลชนทุกท่านนำไปบอกข่าวให้กับประชาชนทั่วประเทศได้ทราบถึงความก้าวหน้าในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งจะเป็นความหวังอีกทางหนึ่งของประชาชนชาวไทย”

นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการวิจัย (หัวหน้าทีมวิจัย) กล่าวถึงที่มาของการทำวิจัยว่า เพื่อเป็นการมองหาวิธีการรักษาใหม่ และประเมินผลการรักษาดังกล่าว ทีมผู้วิจัยจึงเริ่มดำเนินโครงการวิจัยมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 โดยออกแบบงานวิจัยเป็น 2 โครงการย่อยเพื่อนำมาเปรียบเทียบผลการใช้ Oncothermia เพิ่มเติมจากการรักษาแบบมาตรฐานที่ใช้ทั่วไป คือ

1. ทำการศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบอัตราการยุบของก้อนมะเร็งเต้านมในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 ที่ใช้ Oncothermia ร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด 8 ครั้ง ทุก 3 สัปดาห์ ก่อนการผ่าตัด (กลุ่มทดลอง) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด 8 ครั้ง ทุก 3 สัปดาห์ เพียงอย่างเดียว (กลุ่มควบคุม) จำนวน 30 ราย และ ผู้ป่วยทุกรายได้รับการผ่าตัดเต้านมตามมาตรฐาน

2. ทำการศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบเวลาการมีชีวิตรอดของป่วยมะเร็งตับระยะท้ายที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่อง Oncothermia เทียบกับผู้ป่วยมะเร็งตับที่ให้การรักษาแบบประคับประคองจำนวน 22 ราย

ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า อายุเฉลี่ย ชนิดของมะเร็ง ขนาดก้อนมะเร็งก่อนการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน 22% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 ในกลุ่มทดลอง (ที่ใช้ Oncothermia ร่วมด้วย) มีการตอบสนองต่อการรักษาจนก้อนมะเร็งยุบหายหมด ในขณะที่ไม่มีผู้ป่วยรายใดในกลุ่มควบคุม (การรักษาแบบปกติ) ที่มะเร็งยุบจนหมด และไม่มีผู้ป่วยรายใดที่มีผลแทรกซ้อนจากการรักษาเพิ่มเติม

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้นของมะเร็งตับระยะท้ายพบว่า 25% ของผู้ป่วยในกลุ่มทดลองมีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธี Oncothermia ระยะเวลาเฉลี่ยของการมีชีวิตรอดของผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษา 15.3 เดือน ส่วนระยะเวลาการอยู่รอดของผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอยู่ที่ 2.7 เดือน เทียบกับกลุ่มควบคุม 2.2 เดือน ไม่มีผู้ป่วยรายใดมีผลแทรกซ้อนจากการรักษาเพิ่มเติม

จากผลการศึกษาเบื้องต้นครั้งนี้พบว่า เครื่อง Oncothermia มีศักยภาพที่จะใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านมร่วมกับยาเคมีบำบัด และอาจใช้เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับระยะท้าย อย่างไรก็ดี การวิจัยเพื่อหาปัจจัยที่จะทำให้ทราบว่าผู้ป่วยรายใดที่ได้ผลดีเป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาต่อไป เพื่อให้การรักษาดังกล่าวเกิดความคุ้มค่าที่สุดก่อนนำมาใช้งานอย่างกว้างขวาง