รูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการแบบบูรณาการงาน IC ใน รพ.สต. เครือข่ายโรงพยาบาลขอนแก่น ที่ประสบความสำเร็จและนำสู่ความยั่งยืน

รูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการแบบบูรณาการงาน IC

ใน รพ.สต. เครือข่ายโรงพยาบาลขอนแก่น

ที่ประสบความสำเร็จและนำสู่ความยั่งยืน

โรงพยาบาลขอนแก่นให้บริการแก่ประชาชนในระดับตติยภูมิและเครือข่าย รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 19 แห่ง ซึ่งจะต้องนิเทศติดตามระบบคุณภาพอย่างต่อเนื่อง งานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการพัฒนาและรับรองคุณภาพของโรงพยาบาล จึงจำเป็นจะต้องเสริมสร้างศักยภาพ รพ.สต. ให้เข้มแข็งในด้าน IC ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา (.. 2543-2553) จากการนิเทศงาน IC ใน รพ.สต. พบว่ายังขาดศักยภาพในการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อที่ได้มาตรฐาน ความชัดเจน และความเหมาะสมของระบบบริหารจัดการ IC ใน รพ.สต. ยังไม่ครอบคลุมระบบบริหารจัดการที่มีปัญหา ได้แก่ การทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ IC โปรแกรมใน รพ.สต. โครงสร้างงานและการจัดการใน รพ.สต. ยังไม่ชัดเจน ระบบการให้ความรู้และทักษะด้านงาน IC ของบุคลากร และการบริหารจัดการมูลฝอย ซึ่งระบบงานเหล่านี้ต้องการโอกาสในการพัฒนา

คุณวราภรณ์ ประทุมนันท์ งานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล กลุ่มภารกิจด้านการพยาบาล โรงพยาบาลขอนแก่น และคณะ จึงได้ดำเนินการวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการแบบบูรณาการงาน IC ใน รพ.สต. เครือข่ายโรงพยาบาลขอนแก่น ที่ประสบความสำเร็จและนำไปสู่ความยั่งยืน

ระเบียบวิธีวิจัย เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม กลุ่มตัวอย่างเป็นคณะกรรมการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล โรงพยาบาลขอนแก่น คณะกรรมการเครือข่ายระดับจังหวัด คณะกรรมการสาธารณสุขอำเภอ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม รพ.สต. จำนวน 19 แห่ง ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553-เดือนกันยายน พ.ศ. 2554 เครื่องมือเป็นแบบบันทึกข้อมูล การประชุมกลุ่มย่อย สุนทรียสนทนา โดยศึกษาระบบบริหารจัดการ ระบบบริการ การทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ ระบบมูลฝอย การส่งต่อและการประสานงาน

ผลการศึกษา ได้รูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการงาน IC ใน รพ.สต. ดังนี้ ระบบบริหารจัดการ มีการจัดตั้งทีม IC ใน รพ.สต. ระบบบริการ เน้นการคัดกรอง แยกสถานที่ตรวจโรคระบบทางเดินหายใจ การวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว เทคนิคบริการ การให้ความรู้ จัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและบริการเชิงรุก ระบบการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ ใช้ระบบ Single Pack ยกเลิกการใช้ Forcep มีการประเมินคุณภาพอุปกรณ์ด้วย Spore Test ระบบมูลฝอย มูลฝอยติดเชื้อและมูลฝอยทั่วไปกำจัดโดยเทศบาล และ อบต. ที่ร่วมกันรับผิดชอบ ระบบการส่งต่อและการประสานงานที่รวดเร็วและมีคุณภาพ มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องในชุมชนและเครือข่าย การให้ข้อมูลย้อนกลับและการนิเทศติดตามอย่างต่อเนื่อง

คุณวราภรณ์ กล่าวว่า หลังจากนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ พบว่า รพ.สต. มีทีมงาน IC 100% มีการจัดทำแนวทางปฏิบัติด้านงาน IC 95% ใช้ระบบ Single Pack 85% ยกเลิกการใช้ Forcep 100% ใช้ Spore Test 90% ผล Spore Test negative 100% ผ่านการประเมินมาตรฐาน IC 90% ไม่พบการติดเชื้อในผู้ป่วยและบุคลากร ผู้ใช้บริการพึงพอใจ 90% การส่งต่อมีคุณภาพ 85% ความยั่งยืนในการพัฒนาคุณภาพ IC 81% และกระบวนการพัฒนา 80% ปี พ.ศ. 2556 ขยายผลใน รพ.สต. 90 แห่ง และปี พ.ศ. 2557 ขยายผลในเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 7 250 แห่ง

“การบริหารจัดการงาน IC ในระบบเครือข่าย สิ่งสำคัญคือการสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง การใช้กระบวนการสุนทรียสนทนาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทีมสหสาขาวิชาชีพ ให้บริการแบบองค์รวม บูรณาการและผสมผสาน ประสานความร่วมมือภาคีเครือข่ายสุขภาพและเชื่อมโยงภายใต้บริบทของพื้นที่ ให้ชุมชนมีส่วนร่วม สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างปลอดภัย ทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จและนำไปสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้การที่ผู้บริหารเห็นความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคีเครือข่ายสุขภาพ การทำงานเป็นทีมของสหสาขาวิชาชีพ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีเข็มมุ่งและเป้าหมายเดียวกันเพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการยังถือเป็นปัจจัยสำคัญให้งานประสบความสำเร็จ” คุณวราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย