คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เดินหน้าผลิตวัคซีนและน้ำยาทดสอบโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น ครบวงจรรายแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เดินหน้าผลิตวัคซีนและน้ำยาทดสอบโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น ครบวงจรรายแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน

ไรฝุ่นวายร้ายตัวจิ๋วประจำบ้าน ตัวการสำคัญในการก่อโรคภูมิแพ้ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้บริโภคคือ ผลิตภัณฑ์กำจัดไรฝุ่นบ้าน เนื่องจากมีผลการวิจัยที่รายงานว่า ไรฝุ่นบ้านเป็นหนึ่งในหลาย ๆ สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ ทั้งจากมูลของไรฝุ่นและตัวไรฝุ่นเอง ทั้งนี้ไรฝุ่นบ้านพบได้ในบ้านเรือน เช่น ที่นอน หมอน ผ้าห่ม โซฟา ผ้าม่าน พรม และตุ๊กตาที่บรรจุด้วยเส้นใย ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำจัดไรฝุ่นบ้านจัดเป็นวัตถุอันตรายและอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยอาจจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3 ขึ้นอยู่กับชนิดของสารสำคัญที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดไรฝุ่นบ้านอย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย อย.ได้มีการกำกับดูแลวัตถุอันตรายทั้งก่อนและหลังออกสู่ตลาด โดยจะพิจารณาและประเมินข้อมูลในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ โดยหากเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ และแจ้งดำเนินการผลิตหรือนำเข้าและส่งออก สำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ และขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าและส่งออก ขณะนี้ผลิตภัณฑ์กำจัดไรฝุ่นบ้านที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.มีสารสำคัญเป็นน้ำมันกานพลู (Clove oil) และน้ำมันอบเชย (Cinnamon oil)

สำหรับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดไรฝุ่นบ้านนั้น ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. และมีการแสดงเลขทะเบียน วอส.ในกรอบเครื่องหมาย อย. ควรอ่านฉลากก่อนใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากอย่างเคร่งครัด ส่วนวิธีการใช้ สำหรับที่นอนให้ฉีดผลิตภัณฑ์กำจัดไรฝุ่นให้ทั่วที่นอน แล้วใช้ผ้าห่มหรือพลาสติกคลุมทิ้งไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง แล้วจึงเปิดผ้าคลุมออก ทิ้งไว้จนกลิ่นจางลงจึงใช้ได้ สำหรับผ้าห่ม หมอน ตุ๊กตา โซฟา ฉีดสเปรย์ให้สัมผัสโดยตรง ทิ้งไว้จนกลิ่นจางลงจึงใช้ได้ ควรเก็บผลิตภัณฑ์ในที่มิดชิด ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ควรปิดฝาให้สนิทและอย่าให้ถูกแสงแดด เปลวไฟ หรือความร้อน ระวังอย่าให้ละอองเข้าตา ปาก หรือจมูก เมื่อเสร็จจากการใช้แล้วต้องรีบล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง และอย่าฉีดพ่นในห้องที่มีเด็กอ่อนหรือผู้ป่วย ทั้งนี้การควบคุมและกำจัดไรฝุ่นอาจใช้การจัดการด้านสภาพแวดล้อมในห้องนอน เช่น จัดห้องนอนให้สะอาดเรียบร้อย ซักทำความสะอาดเครื่องนอน ผ้าม่าน โดยการซักด้วยน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป นาน 20 นาที หรือไม่ปูพรมในห้องนอน เพื่อลดปริมาณไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้ร่วมกับการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดไรฝุ่น

.เกียรติคุณ พญ.ฉวีวรรณ บุนนาค ที่ปรึกษาของทีมวิจัยวัคซีนโรคภูมิแพ้ และศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า โรคภูมิแพ้นับเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังในคนไทยที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่ง จากสถิติความชุกของโรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจในประเทศไทยพบว่า โรคภูมิแพ้ของทางเดินหายใจส่วนบนคือ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 30 ของประชากร ซึ่งเท่ากับ 20 ล้านคน และโรคภูมิแพ้ของทางเดินหายใจส่วนล่างคือ โรคหืดภูมิแพ้อีกประมาณ 4 ล้านคน ทำให้ที่ผ่านมารัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงเป็นเงินกว่า 2,400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากภาวะภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ จากผลการศึกษาหลายแห่งพบตรงกันว่า “ไรฝุ่น” เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจมากที่สุด พบผู้ป่วยเด็กร้อยละ 70, ผู้ใหญ่ร้อยละ 70-90 และคนทั่วไปร้อยละ 30 ที่แพ้ไรฝุ่น ในขณะที่น้ำยาทดสอบและวัคซีนโรคภูมิแพ้ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศนั้นมีราคาแพง

หลังจากที่ได้มีการลงนามในสัญญาความร่วมมือกับภาคเอกชนในการผลิต ตรวจสอบมาตรฐาน ขึ้นทะเบียน และจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้เมื่อปี พ.ศ. 2550 ขณะนี้โรงงานผลิตวัคซีนโรคภูมิแพ้ซึ่งเป็นโรงงานแรกที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ของประเทศไทยได้สร้างเสร็จแล้ว และได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ให้ผลิตวัคซีนไรฝุ่น 3 รุ่นแรกเพื่อรับการขึ้นทะเบียน โดยวัคซีนไรฝุ่นรุ่นแรกกำลังดำเนินการผลิต จึงคาดได้ว่าภายในปีนี้ วัคซีนไรฝุ่นทั้ง 2 สายพันธุ์คือ Dermatophagoides pteronyssinus (Dp) และ Dermatophagoides farinae (Df) จะได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อจำหน่ายจาก อย. ซึ่งจากการสำรวจทั้งในและต่างประเทศพบว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นรายแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ผลิตวัคซีนไรฝุ่นเพื่อจำหน่ายอย่างครบวงจร โดยวัคซีนที่ผลิตจะได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกันได้ดำเนินการขออนุญาตจำหน่ายชุดทดสอบภูมิแพ้จาก อย. เนื่องจากก่อนที่จะใช้วัคซีนเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ จำเป็นต้องทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังของผู้ป่วยก่อน เพื่อนำผลการทดสอบนั้นมายืนยันว่าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ จริง ซึ่งปัจจุบันได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายชุดทดสอบภูมิแพ้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงจะผลิตชุดทดสอบ (diagnostic kit) ออกมาจำหน่ายก่อน โดยระยะแรกจะผลิตชุดทดสอบที่ประกอบด้วยน้ำยาสกัดสารก่อภูมิแพ้ที่จำเป็น 8 ชนิด คือ 1. น้ำยาทดสอบภูมิแพ้ไรฝุ่นชนิด Dp 2. น้ำยาทดสอบภูมิแพ้ไรฝุ่นชนิด Df 3. น้ำยาทดสอบจากขนแมว 4. น้ำยาทดสอบจากขนสุนัข 5. น้ำยาทดสอบจากแมลงสาบ 6. น้ำยาทดสอบจากหญ้าขน (Para grass) 7. น้ำยาทดสอบจากวัชพืชผักโขม (Careless weed) 8. น้ำยาทดสอบจากเชื้อรา (Cladosporium spp.) ซึ่งผลจากการทดสอบจะเป็นแนวทางให้แพทย์สามารถให้คำแนะนำในการกำจัดและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ได้อย่างถูกต้อง และหากมีข้อบ่งชี้ก็สามารถให้การรักษาโดยการฉีดวัคซีนต่อไปได้

การที่เราสามารถผลิตวัคซีนได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศด้วยคุณภาพที่เท่าเทียมกัน แต่ถูกกว่าราคาผลิตภัณฑ์นำเข้าประมาณร้อยละ 30-50 จะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ขณะเดียวกันยังอาจเพิ่มรายได้จากการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีสารก่อภูมิแพ้อย่างเดียวกัน และยังส่งผลให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ของไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาตามมาตรฐานได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช (The Siriraj Dust Mite Center for Services and Research) มีชื่อเดิมว่า “โครงการศึกษาวิจัยไรฝุ่นและโรคภูมิแพ้” (House Dust Mite and Allergic Diseases' Research Project) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดย รศ.วรรณะ มหากิตติคุณ และคณะ ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้มีการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนา (R & D) ด้านไรฝุ่น และขยายผลสู่เชิงพาณิชย์

SDMC เป็น Dust Mite LAB แห่งแรกของภูมิภาคเอเชียที่มีการดำเนินงานด้านไรฝุ่นอย่างครบวงจร โดยได้นำภูมิปัญญาด้านไรฝุ่นที่สั่งสมมามากกว่า 10 ปี จากการทำงานวิจัยและนำนวัตกรรมที่ได้ในหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น สูตรตำรับ วิธีทดสอบ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ เป็นต้น ซึ่งได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาไว้ ได้แก่ สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และทะเบียนความลับทางการค้า นอกเหนือจากการลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสารชั้นนำระดับนานาชาติ ดังนั้น งานบริการที่ดำเนินการอยู่จึงมีแหล่งที่มา สามารถอ้างอิงจากวารสารที่มีชื่อเสียงของโลกได้ นอกจากงานบริการตรวจวิเคราะห์ด้านต่าง ๆ แล้ว โครงการฯ ยังมีความร่วมมือกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในการผลิตวัคซีนไรฝุ่นในเชิงพาณิชย์ และสร้างเครือข่ายกับองค์กรในต่างประเทศ โดยเป็น Bioresource Center ด้านไรฝุ่นในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล www.dustmitethailand.com โทรศัพท์ 0-2418-1040