โรคตับ

โรคตับ

         ปัจจุบันนี้ความรู้ทางด้านโรคตับ (และโรคอื่น ๆ) มีความก้าวหน้าไปมาก ตั้งแต่การป้องกัน การวินิจฉัยที่มาของโรคต่าง ๆ สมัยก่อนเราไม่รู้เรื่องสาเหตุของโรคจึงทำให้ป้องกันไม่ได้ การวินิจฉัยก็เป็นได้ด้วยความยากลำบาก ไม่เหมือนสมัยนี้ เช่น ในการตรวจโรคไวรัสตับอักเสบชนิด B และ C สามารถตรวจเลือดต่าง ๆ ตั้งแต่หาเชื้อไวรัสตับอักเสบ B, C ได้ รวมทั้งปริมาณเชื้อไวรัสอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีการตรวจเอกซเรย์ต่าง ๆ ได้ เช่น ultrasound, computer scan (CT), magnetic resonance imaging (MRI) หรือ EUS (endoscopic ultrasound) สมัยผมเป็นนิสิตแพทย์หรือจบแพทย์ใหม่ ๆ แม้แต่ ultrasound ยังไม่มี ต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายที่ละเอียด และการวิเคราะห์ สังเคราะห์ที่ดีเท่านั้น รวมทั้งการตรวจทางห้องทดลองแบบง่าย ๆ

         โรคตับที่พบบ่อยทั่วโลกคือ โรคมะเร็งของตับ และโรคตับแข็ง ซึ่งมีสาเหตุใหญ่ ๆ 4 ประการคือ ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป โรคอ้วน เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดB และชนิด C (เชื้อไวรัสตับอักเสบ C เพิ่งมีการค้นพบในปี ค.ศ. 1989)

         สมัยก่อนเราไม่รู้เรื่องเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดB และชนิด C กว่าจะรู้ก็เป็น หรือเกือบเป็นโรคตับแข็งแล้ว เพราะอาจไม่มีอาการ จนกลายเป็นโรคมะเร็งทางตับ (พี่ชายผมก็เสียชีวิตจากโรคมะเร็งของตับ ที่มาจากเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด B) แต่ปัจจุบันนี้เราทราบที่มาที่ไปของเชื้อไวรัสตับอักเสบทั้งชนิด B และชนิด C แล้ว และเรายังมียาที่รักษาเชื้อไวรัสตับอักเสบ C ให้หายขาดหรือเกือบหายขาดได้ รวมทั้งรักษาให้โรคตับที่เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ B ไม่เป็นมากขึ้น หรือลดน้อยลงได้ ถึงแม้ว่ายังไม่หายขาดเหมือนเชื้อไวรัสตับอักเสบ C ในปัจจุบันนี้

         ประเด็นคือ ทุก ๆ คนควรไปตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด B หรือ C หรือไม่ (เช่นเดียวกันควรไปตรวจดูว่ามีเชื้อ HIV หรือไม่) ถ้ามีควรไปพบแพทย์ทางอายุรศาสตร์หรืออายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร หรืออายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคตับ

         แพทย์โรคระบบทางเดินอาหารมีหน้าที่ดูแลอวัยวะมากมายตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ ถุงน้ำดี และตับอ่อน สาขาวิชาระบบทางเดินอาหารเป็นอีกอนุสาขาหนึ่งของสาขาวิชาอายุรศาสตร์ อายุรแพทย์ก็ดูได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารก็ดูได้ แต่แพทย์ที่สนใจโรคตับเป็นพิเศษน่าจะดูโรคตับได้ดีที่สุดเนื่องจากสาขาวิชาระบบทางเดินอาหารมีพื้นที่รับผิดชอบมากจริง ๆ มากกว่าอนุสาขาโรคหัวใจ หรือโรคปอด หรือโรคไต ทำให้แพทย์ระบบทางเดินอาหารบางคน โดยเฉพาะในโรงเรียนแพทย์ แยกเรียนพิเศษเป็นอวัยวะ ๆ ไป เช่น โรคตับโดยเฉพาะ โรคของการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร เรื่องการส่องกล้องโรคตับอ่อน ฯลฯ

         ถ้าพบเชื้อไวรัสตับอักเสบ B หรือ C (เช่น ทราบตอนไปบริจาคเลือด) ควรจะไปพบแพทย์ แพทย์คงจะขอตรวจเลือดดูหลาย ๆ ประเด็นว่าการทำงานของตับเป็นอย่างไร มีไวรัสมากน้อยแค่ไหน แพทย์จะนับจำนวนไวรัสเป็นพันเป็นหมื่นหรือล้าน international units ต่อซีซี เป็นไวรัสตับอักเสบ B หรือ C ชนิดไหน (genotype อะไร) มีการอักเสบของตับหรือไม่ การทำงานของตับเป็นอย่างไร แพทย์อาจขอทำการตรวจ fibroscan หรือ transient elastography ซึ่งเป็นการตรวจที่ง่าย ไม่เจ็บตัว ซึ่งวิธีตรวจนี้มีการพัฒนาไปมากจนสามารถทำให้แพทย์รู้ความเป็นมากน้อยของตับได้พอสมควร โดยไม่ต้องเจาะตับ แต่ในบางกรณีก็ยังจำเป็นต้องเจาะตับ การตรวจที่ละเอียดและมีราคาหน่อย คือการทำ CT ของตับ ที่อาจต้องฉีดสี (ต้องทราบก่อนว่าการทำงานของไตเป็นอย่างไร) และการทำ MRI แต่ CT หรือ MRI ไม่ใช่คำตอบในทุกกรณีของโรคตับ หรือโรคอื่น ๆ ทั้งนี้แล้วแต่ว่าแพทย์สงสัยว่ารอยโรคเป็นอะไร

         แต่ที่แน่ ๆ คือ แพทย์รู้จักวิธีวินิจฉัยและรักษาเชื้อไวรัสตับอักเสบทั้งชนิด B และ C อย่างดีแล้ว โดยเฉพาะเชื้อ HCV แต่ราคายาในประเทศไทยยังแพงอยู่ และยาบางตัวยังไม่มี ทราบว่าถ้าไปซื้อจากสิงคโปร์จะใช้ยา 2 ตัวในเม็ดเดียวกันเป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน อาจต้องรับประทานยา 3-6 เดือน แต่ข้อดีคือ หายขาด 90-100% ในอนาคตยากำลังจะเข้ามาประเทศไทยและราคาจะต่ำลงมาก