‘I Walk’ ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีฟื้นฟูรักษาจากต่างประเทศ

 ‘I Walk’ ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีฟื้นฟูรักษาจากต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดตัว "นวัตกรรมช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก" (I Walk) นวัตกรรมที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้อย่างปกติอีกครั้ง เพียงฝึกเดินแบบก้าวขึ้นบันไดอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ย 30 นาทีต่อวัน เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อขาให้ฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นการขยายโอกาสให้แก่ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกได้เข้าถึงการทำกายภาพบำบัดมากยิ่งขึ้น โดยสามารถลดการพึ่งพาเทคโนโลยีฟื้นฟูรักษาจากต่างประเทศได้ถึง 10 เท่า ล่าสุดได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนาและผลิตจริงจำนวน 10 เครื่อง เพื่อบริจาคแก่สถานพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน อันเป็นการขยายโอกาสในการเข้าถึงการฟื้นฟูรักษาของผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล โดยนวัตกรรมดังกล่าวได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมประกาศนียบัตร ภายในงานประชุมวิชาการเรื่องวิศวกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ (i-CREATe 2015) ณ มหาวิทยาลัยนันยางเทคโนโลยี สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา

         ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โรคอัมพาตครึ่งซีก (Hemiplegic) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือด อันมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดในสมองตีบตัน (Cerebral thrombosis), หลอดเลือดในสมองแตก (Cerebral hemorrhage) หรือพบลิ่มเลือดอุดตัน (Cerebral embolus) ส่งผลให้เนื้อสมองบางส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายหยุดสั่งงาน และเกิดอาการอัมพาตของร่างกายในซีกตรงกันข้าม กล่าวคือ หากการตีบตันของหลอดเลือดเกิดขึ้นในสมองซีกซ้ายก็จะมีอาการอัมพาตที่ซีกขวา โดยโรคดังกล่าวจะพบในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยกลางคนเป็นส่วนใหญ่

ปัจจุบันผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกมีจำนวนสูงกว่า 500,000 คน ทั่วประเทศไทย ซึ่งล้วนต้องอาศัยการทำกายภาพบำบัดในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ แต่การทำกายภาพบำบัดทุกวันนี้มีค่าใช้จ่ายสูง อันเนื่องมาจากต้นทุนในการนำเข้าเทคโนโลยีกายภาพจากต่างประเทศ ประกอบกับจำนวนนักกายภาพบำบัดในปัจจุบันที่มีเพียง 2,830 คน จากสถานพยาบาลเพียง 1,471 แห่ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคดังกล่าวในเชิงปริมาณ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้คิดค้น "นวัตกรรมช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก" (I Walk) ขึ้น เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้แก่ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกในพื้นที่ชุมชนห่างไกลได้เข้าถึงการทำกายภาพบำบัดมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีฟื้นฟูรักษาจากต่างประเทศ ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์และสหเวชศาสตร์เข้าด้วยกัน

          ผศ.ดร.บรรยงค์ กล่าวต่อว่า นวัตกรรม 'I Walk' เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 อุปกรณ์คือ "อุปกรณ์ช่วยจัดท่าทางการเดินของขา" อุปกรณ์เสริมกำลังที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฝึกเดินแบบก้าวขึ้นบันได หรือวิ่งได้โดยไม่รู้สึกเหนื่อยล้า พร้อมกับจัดท่วงท่าการเดินที่เหมาะสม และ "อุปกรณ์ยกตัวผู้ป่วย" อุปกรณ์พยุงน้ำหนักผู้ป่วยเพื่อป้องกันการล้มหรือเข่าทรุดระหว่างการทำกายภาพบำบัด โดยการทำงานของนวัตกรรมดังกล่าวเริ่มจากการให้ผู้ป่วยขึ้นไปยืนบนแท่นฝึกเดิน พร้อมสวมสายรัดพยุงน้ำหนักและจับราวหัดเดินให้กระชับ จากนั้นระบบจะฝึกผู้ป่วยให้ก้าวเดินอย่างช้า ๆ คล้ายกับการก้าวขึ้นบันไดในลักษณะวงรี เนื่องจากผลการศึกษาวิจัยพบว่า การฝึกเดินแบบก้าวขึ้นบันไดจะช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อขาได้ดีกว่าฝึกการเดินในแนวระนาบ โดยผู้ป่วยควรฝึกเดินอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ย 30 นาทีต่อวัน เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อขาให้ฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น

            ทั้งนี้นวัตกรรมดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน ดูแลรักษา ตลอดจนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก แต่ยังคงมีสมรรถนะในการช่วยฝึกเดินอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีราคาต้นทุนอยู่ที่ 200,000 บาท ซึ่งมีราคาถูกกว่าอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศถึง 10 เท่า โดยที่ผ่านมาได้นำร่องทดลองใช้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน จ.นครปฐม ที่มีอาการเรื้อรังมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป จำนวน 15 คน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ซึ่งผลที่ได้จากการทดลองเบื้องต้นคือ ผู้ป่วยสามารถก้าวเดินได้เร็วและนานขึ้น รวมไปถึงสามารถก้าวขึ้นบันไดได้ด้วยขาทั้ง 2 ข้าง โดยมีไม้ค้ำยันช่วยพยุงขณะเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย โดยล่าสุดได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนาและผลิตจริงจำนวน 10 เครื่อง เพื่อบริจาคแก่สถานพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน อันเป็นการขยายโอกาสในการเข้าถึงการฟื้นฟูรักษาของผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล

อย่างไรก็ดี นวัตกรรม 'I Walk' เป็นหนึ่งในผลงานของโครงการห้องปฏิบัติการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ (CED2) โดยความร่วมมือกันระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ ภาควิชากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย .ดร.พัชรี คุณค้ำชู ซึ่งล่าสุดได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมประกาศนียบัตร ภายในงานประชุมวิชาการเรื่องวิศวกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ (i-CREATe 2015) ณ มหาวิทยาลัยนันยางเทคโนโลยี สาธารณรัฐสิงคโปร์

         สำหรับสถานพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจนวัตกรรมฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก (I Walk) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 0-2564-3001 และ 0-2564-4493 หรือเว็บไซต์ http://me.engr.tu.ac.th