แพทย์เกียรติยศแพทยสภา รางวัลทรงเกียรติแก่แพทย์ผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

แพทย์เกียรติยศแพทยสภา รางวัลทรงเกียรติแก่แพทย์ผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

 

            ในโอกาสครบรอบ 48 ปีแพทยสภา ทางแพทยสภามีนโยบายให้คัดสรรและค้นหาสมาชิกแพทยสภาที่โดดเด่น ดีเด่น มีผลงาน มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถในการบริหาร และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่แพทย์และคนทั่วไป อีกทั้งมีส่วนในการนำแพทย์ไทยให้เป็นที่ยอมรับและมีเกียรติในระดับนานาชาติ คณะกรรมการแพทยสภา ในการประชุมครั้งที่ 9/2559 วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2559 จึงมีมติให้มีการเชิดชูสมาชิก “แพทย์เกียรติยศแพทยสภา”  โดยสมาชิกแพทยสภาที่ได้รับเลือกให้เป็น “แพทย์เกียรติยศแพทยสภา” ซึ่งเสนอโดยสำนักงานเลขาธิการแพทยสภาผ่านอนุกรรมการบริหารและกรรมการแพทยสภามี 3 ท่าน ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ, นพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง และ .เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา         

นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ

            นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อปี พ.ศ. 2503 และได้รับวุฒิบัตรหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชนรุ่นที่ 1 (ปรอ.1) หลังจากจบการศึกษาแล้ว นพ.ปราเสริฐ รับราชการเป็นอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช อยู่ 5 ปี ก่อนจะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัวในเวลาต่อมา

            ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ท่ามกลางมรสุมการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของโลก นพ.ปราเสริฐ ได้ดำเนินธุรกิจหลายสาขา นำพาธุรกิจทั้งหมดที่ดูแลให้เติบโต ปรับตัวผ่านวิกฤติต่าง ๆ จนมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ ท่านดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลในเครือถึง 43 แห่ง นับเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค รวมถึงธุรกิจบริการสุขภาพอื่น ๆ ที่ให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพแก่ประชาชนครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศไทย นอกจากนี้ท่านยังดำรงตำแหน่งประธานของมูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ความอนุเคราะห์ผู้ป่วยยากไร้ที่ด้อยโอกาส มอบอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล สถานีอนามัย  มูลนิธิและผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ขาดแคลนทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ในการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพเวชกรรม ให้ทันต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์สากล มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนให้แพทย์ได้มีโอกาสสร้างผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ และสามารถนำผลงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ภายในประเทศได้

            ในด้านของเกียรติประวัตินั้น ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาถึง 2 วาระ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำอีกมากมาย รวมถึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) เมื่อปี พ.ศ. 2537

          นพ.ปราเสริฐ เป็นผู้นำขององค์กรที่นำพาทุกคนฝ่าฟันความยากลำบากไปสู่ความสำเร็จ ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์สูง มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญชำนาญในงานที่ทำ ปัจจุบันท่านอายุ 82 ปี ยังทำงานที่ท่านรักที่ท่านสร้างมาตลอดชีวิตด้วยความมุ่งมั่น

 

 

นพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง

 

         นพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง เกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2483 จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2509 จบการศึกษามหาบัณฑิตทางสาธารณสุขศาสตร์และเวชศาสตร์เมืองร้อน (M.P.H. & T.M.) และสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต (Dr. P.H.) จากมหาวิทยาลัยทูเลน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านการวางแผนงานสาธารณสุข จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการทำวิทยานิพนธ์ดีเด่นระดับปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยทูเลน (พ.ศ. 2515) เป็นสมาชิกเดลต้าโอเมก้า (ETA Chapter) ซึ่งเป็นสมาคมของนักวิชาชีพด้านการสาธารณสุขที่มีชื่อเสียงของประเทศสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2515) และเป็นแพทย์ไทยคนแรกและยังเป็นคนเดียวที่ได้เป็น Diplomate American Board of Preventive Medicine สาขาสาธารณสุขศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมของแพทยสภาประเทศไทยในปี พ.ศ. 2522

         นพ.สำลี เริ่มเข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2508 ในกรมอนามัย ต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการกองวิชาการ กรมการแพทย์ และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งชาติเรื่องการป้องกันและควบคุมโรค ตามลำดับ ก่อนที่จะไปเป็นผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ. 2547

             นพ.สำลี อดีตผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสำนักงานอยู่ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย นับเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ 2 สมัย เป็นเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2547-2557) ภายหลังท่านได้ดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยการสาธารณสุขแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งได้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการภูมิภาค (Deputy Regional Director) และผู้อำนวยการการบริหารแผนงาน (Director Programme Management) ขององค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้      

            นพ.สำลี เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป สร้างผลงานในด้านวิชาการที่ดีเด่นไว้หลายประการ เช่น ผลักดันงานสุขภาพดีถ้วนหน้า จัดให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศเพื่อการดำเนินงานสุขภาพดีถ้วนหน้า ผลักดันงานสาธารณสุขมูลฐาน เป็นหัวหน้าคณะในการเจรจาของบประมาณจากประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 4.5 ล้านเหรียญ ในโครงการ DIEDS (Development of Integrated Evaluation and Delivery System หรือโครงการลำปาง) ปูพื้นฐานการบริหารงานวิจัยในกระทรวงสาธารณสุข ได้ผลักดันงานวิชาการด้านการป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะการกำหนดมาตรฐานของการปฏิบัติในแง่มุมต่าง ๆ และผลักดันงาน National Expert Advisory Panels และ Committees เป็นต้น นอกจากนี้ท่านได้เป็นสมาชิกและเลขานุการของคณะผู้แทนประเทศไทยในสมัชชาอนามัยโลก และในคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน ท่านเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการจัดประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงเทพฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2520 และในการประชุมอื่นอีกจำนวนมาก

            ผลงานดีเด่นของ นพ.สำลี ขณะที่ปฏิบัติงานกับองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ การปฏิรูประบบงบประมาณและการบริหารงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนเป็นที่ยอมรับในองค์การอนามัยโลกว่า นพ.สำลี เป็นนักบริหารที่มีความสามารถมากที่สุดคนหนึ่ง จึงได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านการปฏิรูประบบงบประมาณและการบริหารงาน สำนักงานใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ณ กรุงเจนีวา ในปี พ.ศ. 2543

         นพ.สำลี เป็นกำลังสำคัญขององค์การอนามัยโลกในการให้ความร่วมมือกับประเทศภาคีสมาชิกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการพัฒนาและปรับปรุงระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการจัดทำนโยบายแผนงานและโครงการต่าง ๆ ในระดับชาติ การพัฒนางานสาธารณสุขมูลฐาน การค้นหารูปแบบของระบบบริการสุขภาพ ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศของสถาบันวิชาการด้านสาธารณสุขศาสตร์ในภูมิภาค

.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

            ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2485 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และเตรียมอุดมศึกษา ได้ศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และจบแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมในปี พ.ศ. 2508 ได้รางวัลเหรียญทองเป็นที่หนึ่งตลอดหลักสูตร ระหว่างที่เรียนในมหาวิทยาลัยได้คะแนนเป็นที่หนึ่งทุกปี ได้เหรียญรางวัลสำหรับที่หนึ่งทุกเหรียญที่มีให้ รวม 9 เหรียญ ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อ ณ สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2509 สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางจุลชีววิทยาและอิมมูโนวิทยาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ในปี พ.ศ. 2514 และได้วุฒิบัตรสาขากุมารเวชศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2517 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น Fellow Infectious Diseases Society of America ในปี พ.ศ. 2526 ได้กลับมารับราชการในภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในปี พ.ศ. 2515 และได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2525

            ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ ได้บุกเบิกเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ยาปฏิชีวนะในโรคติดเชื้อ และโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล จัดอบรมระยะสั้นเรื่องการรักษาโรคติดเชื้อที่พบบ่อยทุกปีเป็นเวลากว่า 10 ปี ก่อตั้งสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ก่อตั้ง Asian Society of Pediatric Infectious Diseases และเป็นนายกสมาคมคนแรก ร่วมก่อตั้ง Western Pacific Society of Chemotherapy and Infectious Diseases ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น Asia-Pacific Society of Clinical Microbiology and Infection ได้รับเชิญไปบรรยายในเรื่องโรคติดเชื้อและวัคซีนในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา และอเมริกาใต้ ได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้แก่บริษัทต่างประเทศหลายแห่ง ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กของโลก (President, World Society of Pediatric Infectious Diseases) การวิจัยในระยะแรกศึกษาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ค้นพบ macrophage aggregation factor ตีพิมพ์ใน Journal of Immunology เมื่อปี พ.ศ. 2513 ต่อมาทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ ยาต้านจุลชีพ และวัคซีน

            ในด้านการศึกษาแพทย์ ท่านเป็นรองคณบดีฝ่ายการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ประธานร่างเกณฑ์มาตรฐานแพทยศาสตร์ ประธานสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา ประธานอนุกรรมการกลางฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านของแพทยสภา และประธานอนุกรรมการต่าง ๆ ของแพทยสภา นอกจากนี้ยังเป็นนายกแพทยสภา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมโรคติดเชื้อและนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ประธานสมาพันธ์สภาวิชาชีพ เป็นบรรณาธิการรามาธิบดีเวชสาร และวารสารกุมารเวชศาสตร์ เป็นต้น เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการสาธารณสุขของวุฒิสภา และประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของกรรมาธิการสาธารณสุขของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

            ในด้านต่างประเทศ นอกจากไปบรรยายในต่างประเทศกว่า 60 ครั้ง เป็นนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กของโลก และของเอเชียแล้ว ยังเป็นประธานเครือข่ายแพทยสภาขององค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านการแพทย์ และคณะทำงานด้านบริการสุขภาพของประชาคมอาเซียน