ประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต

ประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต

ความผิดปกติของหลอดเลือดที่ตรวจวัดออกมาในรูปแบบของความแข็งของหลอดเลือด (Arterial Stiffness) เป็นหนึ่งในการตรวจวัดที่อาจใช้ทำนายถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต ที่ผ่านมาในอดีตการวัดความแข็งของหลอดเลือดยังมีปัญหาด้านเทคนิคและวิธีการวัดอยู่บ้าง แต่ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเครื่องมือแพทย์ที่พัฒนาขึ้นทำให้ปัจจุบันแพทย์สามารถประเมินความแข็งของหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น นั่นคือการตรวจวัดความแข็งของหลอดเลือดโดยใช้เทคนิคการวัดที่เรียกว่า CAVI หรือ cardio-ankle vascular index ด้วยเทคนิคการวัดค่า CAVI นี้ ความแข็งของเส้นเลือดจะไม่แปรเปลี่ยนไปตามระดับความดันโลหิต ทำให้ได้ค่าที่คงที่เสมอในการตรวจวัดในคนคนหนึ่ง

นพ.ปริญญ์ วาทีสาธกกิจ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจวัดความแข็งของหลอดเลือดได้หลายวิธี โดยหนึ่งในเทคนิคใหม่ที่มีการนำมาใช้คือ การตรวจวัดความแข็งของหลอดเลือดโดยใช้ Cardio Ankle Vascular Index (CAVI) ที่ให้ค่าค่อนข้างแม่นยำและคงที่ ไม่ว่าภาวะความดันโลหิตของผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นหรือลดลง อีกทั้งยังสามารถจะประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ในอนาคต

โดยในประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือดโดยใช้ CAVI อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ในโครงการวิจัยติดตามผลระยะยาวขนาดใหญ่ ทั้งในคนที่แข็งแรงดี คนที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือคนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้วจำนวนมากกว่า 10,000 คน และยังได้มีการติดตามผล CAVI อย่างต่อเนื่องในบุคคลนั้น ๆ จนถึงปัจจุบัน โดยการศึกษาวิจัยด้วย CAVI ในประเทศไทยถือว่าเรามีฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือมีการศึกษาวิจัยและติดตามผลมาเป็นระยะเวลา 10 ปี

ด้วยปริมาณของข้อมูลจำนวนมากนี้ เราได้ทำการวิเคราะห์ดูความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ กับความแข็งของหลอดเลือด ยกตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวกับด้านความดันโลหิตสูง เราพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมระดับความดันโลหิตได้ดีตามเป้าหมาย เมื่อผ่านไป 5 ปี หลอดเลือดของผู้ป่วยจะไม่แข็งขึ้นเท่าไหร่ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่สามารถลดความดันโลหิตลงมาได้ตามเป้าหมาย  ซึ่งตรงนี้มีความหมายมากและเป็นการอธิบายกลไกว่าทำไมบุคคลที่คุมความดันได้ไม่ดีจึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต ดังนั้น เราจึงสรุปว่าการรักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูงต้องจริงจัง รักษาให้เข้าเป้าหมาย เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่รักษาไม่ดี หลอดเลือดจะเสื่อมลงเร็วกว่าปกติ

ทั้งนี้ประเทศไทยได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานวิจัยชิ้นนี้ในงานประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมแพทย์โรคหัวใจทวีปยุโรป หรือ ESC Congress 2016 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนับว่าเป็นการศึกษาวิจัยที่ใหญ่ที่สุดและติดตามนานที่สุดในโลก

นพ.ปริญญ์ กล่าวอีกว่า การตรวจวัดความแข็งของหลอดเลือดโดยใช้ CAVI จะช่วยให้ผู้ป่วยได้ตระหนักถึงปัญหาของตัวโรคของเขาเอง เพราะบางคนถ้ายังไม่เกิดโรค เช่น โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต เขาก็จะยังคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก ไม่เห็นความสำคัญของการปรับปรุงตัวและหันมาดูแลตัวเอง แต่ CAVI จะช่วยสื่อสารให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น สามารถจะบอกได้ว่าสภาพหลอดเลือดของเขาเป็นอย่างไร โดยที่ไม่ต้องรอให้เกิดโรค เพราะถ้ารอให้เกิดโรคแล้วอาจจะสายเกินไป ซึ่งหวังว่าในอนาคตจะมีการนำเครื่องมือนี้มาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกเหนือไปจากการประเมินจากปัจจัยเสี่ยงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งช่วยให้แพทย์เตรียมวิธีการรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย   

 “ทางด้านโรคหัวใจ ปัจจุบันมีเครื่องมือใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เพราะฉะนั้น แต่ละเครื่องมือต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีประโยชน์ เพราะในการเลือกของแพทย์จะพิจารณาจากเครื่องมือที่ใช้งานง่าย สะดวก ให้ผลที่แม่นยำ และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ” นพ.ปริญญ์ กล่าวทิ้งท้าย