ปัญหาการมองเห็นอาจเสี่ยงสมองเสื่อม

ปัญหาการมองเห็นอาจเสี่ยงสมองเสื่อม

            ผลการศึกษาวิจัยในกลุ่มตัวอย่างอายุมากในสหรัฐอเมริกาชี้ ภาวะบกพร่องด้านการมองเห็นระยะไกลสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อภาวะบกพร่องด้านการรู้คิด และการตรวจการมองเห็นเป็นประจำอาจช่วยคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 

            ข้อมูลจากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างอายุมากกว่า 60 ปี และ 65 ปี รายงานว่าปัญหาการมองเห็นภาพระยะไกลสัมพันธ์กับความเสี่ยงภาวะบกพร่องด้านการรู้คิดที่สูงขึ้นเกือบ 3 เท่า โดยสันนิษฐานว่า ภาวะบกพร่องด้านการมองเห็นทำให้ผู้ป่วยปลีกตัวออกจากสังคมซึ่งยิ่งกระตุ้นให้การรู้คิดเสื่อมลงเร็วขึ้น และในอีกหนึ่งทาง ภาวะบกพร่องด้านการรู้คิดที่เสื่อมลงจนถึงระดับหนึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะบกพร่องด้านการมองเห็นแม้โครงสร้างของดวงตาจะยังคงเป็นปกติอยู่ก็ตาม

            อนึ่ง สมาคมจักษุวิทยาอเมริกันแนะนำให้ผู้ใหญ่อายุมากตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี คณะทำงานเชิงป้องกันของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งทำหน้าที่ประเมินหลักฐานทางการแพทย์ได้สรุปในรายงานประจำปี พ.ศ. 2552 และ 2559 ว่า การตรวจสุขภาพตาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูสุขภาพตาในผู้ใหญ่อายุมาก จึงไม่จำเป็นต้องตรวจเป็นประจำ

            อีกด้านหนึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาวะบกพร่องด้านการมองเห็นและสมองเสื่อม หรือความเสื่อมด้านการรู้คิด โดยชี้ว่าปัญหาการมองเห็นในผู้สูงวัยส่วนใหญ่สามารถรักษาได้