หัวแตก กะโหลกร้าว สมองช้ำ ล้มเองหรือถูกตี

หัวแตก กะโหลกร้าว สมองช้ำ ล้มเองหรือถูกตี

พ.ต.ต.นพ.ณัฐวุฒิ โยธินอุปไมย พ.บ., ว.ว.นิติเวชศาสตร์, น.บ. แพทย์นิติเวช สถาบันนิติเวชวิทยา

            เมื่อไม่กี่เดือนมานี้มีข่าวการเสียชีวิตของผู้เคราะห์ร้ายรายหนึ่งที่เป็นกระแสถูกนำมาเล่าเป็นข่าวโด่งดังโดยนักเล่าข่าวหลายต่อหลายช่อง พร้อมกับบทวิเคราะห์ถูกบ้าง ผิดบ้าง มีแหล่งอ้างอิงบ้าง ไม่มีบ้าง นอกจากนี้ยังมีการพาดหัวข่าวราวกับเป็นผู้สังเกตการณ์เกาะอยู่ขอบสนามเห็นความจริงนาทีต่อนาที สรุปเรื่องราวทั้งหมดได้ภายในพริบตา เช่น "ผลชัด นางสาวแกะไม่ถูกข่มขืน น้องไก่ซัดนายแพะคือคนฆ่า" "นายแพะฆาตกร100% ยังไม่ชัด ฆ่าวิธีไหน" ชักนำให้คนเสพข่าวเชื่อไปในทางว่า นายแพะเป็นฆาตกรแน่ ๆ ว่าที่จริงก็ออกจะไม่เป็นธรรมกับผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาสักเท่าไหร่ เนื่องจากกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงและการพิสูจน์ความผิดยังไม่สิ้นสุด โดยในกรณีนี้รวมถึงกรณีอื่น ๆ ที่การเสียชีวิตนั้นมีสาเหตุจากการบาดเจ็บที่ศีรษะและสมอง ก็มักจะนำมาซึ่งปัญหาคลาสสิค เกิดข้อโต้แย้งและข้อต่อสู้กันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ว่า การบาดเจ็บที่ศีรษะและสมองนั้นเป็นการพลัดตกหกล้มหรือถูกตี

            ประเด็นที่จะหยิบยกมาถกกันในวันนี้คือ เรื่องของการบาดเจ็บที่ศีรษะอันเป็นส่วนของร่างกายที่บรรจุอวัยวะสำคัญต่อการมีชีวิตคือ สมอง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทและเซลล์ประสาทนับล้านที่ควบคุมระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งระบบการหายใจและการไหลเวียนโลหิต หากสมองมีการบาดเจ็บในจุดสำคัญเพียงเล็กน้อยอาจหมายถึงชีวิต ทำให้ศีรษะกลายเป็นอวัยวะเป้าหมาย เป็นจุดตายของการทำร้ายทำลายกัน หากฆาตกรมีของแข็งอยู่ในมือสักชิ้นและประสงค์ต่อชีวิตผู้อื่นผู้ใดนั้น เป็นไปได้น้อยมากที่จะไม่จรดประทับของแข็งนั้นลงไปที่ศีรษะ

            เมื่อเป็นเช่นนี้จึงขอเริ่มต้นด้วยเรื่องกายวิภาคแบบเบา ๆ ของศีรษะมนุษย์เราจากชั้นนอกสุดเข้าสู่แกนกลางในมุมมองนิติเวชกันก่อน

            1. เส้นผม มีความสำคัญอย่างน้อยสองนัย กล่าวคือ นัยแรก เส้นผมโดยเฉพาะเส้นผมยาว ๆ หนา ๆ ของคุณผู้หญิงทั้งหลายจะเป็นสิ่งที่หักเหแนวแรงหรือดูดซับแรงที่มากระทำต่อศีรษะ เป็นตัวช่วยให้การบาดเจ็บของหนังศีรษะ กะโหลก หรือสมอง ลดลงได้บางส่วน อีกนัยคือ เส้นผมจะเป็นตัวปกปิดบาดแผลบริเวณหนังศีรษะใต้ต่อมัน หากขาดประสบการณ์หรือขาดความละเอียดในการตรวจจะทำให้มองข้ามและละเลยบาดแผลดังกล่าวได้ ดังนั้น การตรวจบาดแผลบริเวณศีรษะนอกจากการดูแล้ว ยังต้องอาศัยการคลำว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หากมีข้อสงสัยหรือมีข้อมูลบ่งชี้ว่าน่าจะมีการบาดเจ็บที่ศีรษะต้องโกนผมออกเพื่อตรวจดูหนังศีรษะบริเวณนั้น

รูปที่ 1 เส้นผมจะปิดบังรายละเอียดบาดแผล

รูปที่ 2 เมื่อโกนผมออกจะทำให้เห็นขอบแผลและก้นแผลได้ชัดเจน

            2. หนังศีรษะ ประกอบด้วยชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่ผิวหนังชั้นนอก ผิวหนังชั้นใน ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง และชั้นเนื้อเยื่อพังผืดอีก 3 ชั้น ก่อนจะถึงกะโหลกศีรษะ การเกิดบาดแผลที่หนังศีรษะมีความแตกต่างจากผิวหนังบริเวณอื่นด้วยเหตุปัจจัยหลายประการตามที่กล่าวไปข้างต้นคือ การมีเส้นผมปกคลุมหนังศีรษะจะหักเหและดูดซับแรงที่มากระทำ ทำให้มักจะไม่เกิดบาดแผลถลอก รวมถึงวัตถุที่ประทับลงบนหนังศีรษะจนเกิดบาดแผลขึ้นเป็นรูปทรงของวัตถุนั้นก็จะไม่รุนแรงและปรากฏรูปทรงวัตถุที่มากระทำไม่ชัด ประการต่อมาคือ หากเกิดการฟกช้ำบริเวณนี้ เลือดที่ออกในหนังศีรษะ ไม่ว่าจะอยู่ชั้นใดจะมีพื้นที่จำกัดในการกระจายตัวและเซาะซึม เนื่องจากใต้ต่อมันคือกะโหลกแข็ง ทำให้เกิดการบวม โน ปูดเป็นลูกมะนาวอย่างที่เราคุ้นเคยกัน ต่างจากการฟกช้ำของผิวหนังบริเวณอื่นซึ่งจะเห็นเพียงการเปลี่ยนสีของผิวหนังจากเลือดที่ออกในชั้นผิวหนังหรือชั้นใต้ผิวหนัง โดยมักจะไม่พบการบวม ปูด เนื่องจากเลือดที่ออกสามารถเซาะซึมลงไปในชั้นลึกต่อผิวหนังได้ ประการสุดท้าย การเกิดบาดแผลฉีกขาดบริเวณหนังศีรษะนั้น (หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า แผลแตก/หัวแตก) จะมีเลือดออกได้มากจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการฉีกของหลอดเลือดเส้นหลักหรือเส้นใหญ่ ซึ่งต่างจากการเกิดบาดแผลฉีกขาดในส่วนอื่นของร่างกาย นอกจากนี้ การที่หนังศีรษะมีกะโหลกศีรษะรองรับอยู่ข้างใต้ เปรียบเสมือนมีเนื้อวางอยู่บนเขียง ทำให้บาดแผลฉีกขาดจากของมีคมและจากของไม่มีคม มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แยกจากกันได้ยาก หากแพทย์ผู้ตรวจขาดประสบการณ์และความชำนาญอาจนำไปสู่การให้ความเห็นเกี่ยวกับอาวุธหรือวัตถุที่มากระทำผิดไปจากความจริง

รูปที่ 3 ลักษณะภาพตัดขวางของหนังศีรษะ

            3. กะโหลกศีรษะ จะประกอบด้วยชั้นกระดูกแข็ง 2 ชั้น ประกบชั้นกระดูกที่เป็นรูพรุนตรงกลาง โดยชั้นกระดูกแข็งด้านนอกจะหนากว่าชั้นด้านในประมาณ 2 เท่า นึกภาพง่าย ๆ เหมือนขนมเวเฟอร์ที่จะมีแผ่นแป้งด้านบนและด้านล่าง ประกบไส้ช็อกโกแลตตรงกลาง ในผู้ใหญ่กะโหลกศีรษะบริเวณขมับจะเป็นส่วนที่บางที่สุด ซึ่งอาจบางเพียง 4 มิลลิเมตร ส่วนที่หนาที่สุดจะเป็นบริเวณกลางท้ายทอย อาจหนามากกว่า 15 มิลลิเมตร ข้อควรพิจารณาในทางนิติเวชเกี่ยวกับกะโหลกศีรษะที่มักจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนหลงประเด็นกันไปก็คือ กะโหลกศีรษะแตกเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ทำให้ถึงตาย แต่การแตกของกะโหลกศีรษะนั้นเป็นเพียงข้อบ่งชี้ว่ามีแรงมากระทำกับศีรษะและแรงนั้นอาจถูกส่งผ่านไปทำให้เกิดการบาดเจ็บของโครงสร้างภายใน เช่น หลอดเลือด เยื่อหุ้มสมอง หรือสมองได้ ในทางกลับกันการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของสมองอาจเกิดขึ้นโดยที่กะโหลกศีรษะไม่แตกก็ได้ ซึ่งการแตกของกะโหลกศีรษะมีรายละเอียดที่ต้องตรวจพิสูจน์มากมาย ทั้งตำแหน่งการแตก แนวการแตก ชนิดของการแตกต่าง ๆ อันจะสามารถบอกถึงกลไกหรือบอกถึงอาวุธที่มากระทำได้ ทั้งนี้จะได้กล่าวต่อไปอย่างละเอียดในบทความตอนหน้า

รูปที่ 4 และ 5 ลักษณะกะโหลกศีรษะและหน้าตัด

            4. เยื่อหุ้มสมอง เมื่อมองลึกถัดลงมาจากกะโหลกศีรษะจะพบเยื่อหุ้มที่ห่อหุ้มสมองอยู่ มีเส้นเลือดและของเหลวหล่อเลี้ยง เยื่อหุ้มสมองมีทั้งหมด 3 ชั้น การบาดเจ็บและเลือดออกในแต่ละชั้นมีความสำคัญในทางนิติเวช สามารถบอกกลไกการบาดเจ็บได้เช่นกัน

            5. สมอง องค์ประกอบสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดที่ถูกบรรจุอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ โดยการบรรจุภายในกะโหลกศีรษะนั้นเป็นการบรรจุแบบกึ่งยึดแน่นกึ่งยืดหยุ่น กล่าวคือ ภายในกะโหลกยังพอเหลือพื้นที่ให้สมองได้เคลื่อนตัว เคลื่อนที่ไปตามแรงที่มากระทำได้บ้าง ทำให้สมองมีการฟกช้ำแบบต่าง ๆ ตามแต่กลไกและแนวแรงที่มากระทำ

            จากข้อมูลข้างต้นทั้งหมดที่กล่าวมา ไล่เรียงตั้งแต่เส้นผมด้านนอก ผ่านชั้นโครงสร้างต่าง ๆ จนถึงสมองด้านใน ล้วนมีข้อมูลสิ่งบ่งชี้ที่แพทย์นิติเวชจะสืบค้น และตรวจบันทึกลักษณะการบาดเจ็บทั้งหมดนำมาประมวลและสรุปผลออกมาว่าการบาดเจ็บของศีรษะและสมองนั้นเกิดจากการพลัดตกหกล้ม คือศีรษะไปกระแทกกับวัตถุ หรือถูกตี คือวัตถุมากระแทกกับศีรษะ อันจะได้วิสัชนาในตอนต่อไป