การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพียงวันละครั้งก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองแล้ว

การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพียงวันละครั้งก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองแล้ว

            เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562 สำนักข่าว BBC NEWS พาดหัวข่าวว่า “การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพียงวันละครั้งก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้แล้ว” โดยยกงานวิจัยจากหลายประเทศมาแสดงโดยมีเนื้อข่าวส่วนหนึ่งระบุว่า เพียงการดื่มไวน์ 1 แก้วเล็ก เบียร์ 1 ขวด หรือสุรา 1 แก้ว ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ ซึ่งผู้รับสารจะต้องบริโภคข่าวนี้อย่างมีสติ เนื่องจากข้อความดังกล่าวอาจเป็นความจริงหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ “ปริมาณแอลกอฮอล์จากการดื่มและความต่อเนื่องของการดื่ม” กล่าวคือ จำเป็นต้องทราบก่อนว่า ไวน์ 1 แก้วเล็ก เบียร์ 1 ขวด หรือสุรา 1 แก้ว หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ใด ๆ ที่บริโภคนั้นคิดเป็น “กี่ดื่มมาตรฐาน (standard drink)” โดยมีวิธีการคำนวณคือ (เปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ x ปริมาณเป็นซีซีหรือมิลลิลิตร x 0.789)/100 จะทำให้ได้ปริมาณการดื่มออกมาในหน่วยกรัมแอลกอฮอล์ และหากต้องการทราบดื่มมาตรฐานก็นำค่ากรัมที่ได้มาหารด้วย 10 ยกตัวอย่างเช่น เบียร์ (5%) หนึ่งกระป๋อง 330 ซีซี เท่ากับ (5 x 330 x 0.789)/100 เท่ากับ 13.01 กรัมแอลกอฮอล์หรือ 1.3 ดื่มมาตรฐาน จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและหน่วยงานสุขภาพต่าง ๆ และคำแนะนำด้านอาหารของสมาคมต่าง ๆ ในโลก ได้ให้คำแนะนำว่า หากไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อยู่แล้วก็ควรไม่ดื่มต่อไป แต่หากดื่มอยู่และยังไม่สามารถเลิกได้ สำหรับผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน สำหรับผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 1 ดื่มมาตรฐานต่อวัน หมายความว่า ใน 1 สัปดาห์ ผู้ชายและผู้หญิงไม่ควรดื่มเบียร์ 5% เกิน 10 และ 5 กระป๋อง ตามลำดับ ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในทางปฏิบัติจะต้องนำ “ความถี่ในการดื่ม” เข้ามาพิจารณาร่วมด้วย เนื่องจากการดื่มในปริมาณมากและต่อเนื่องยาวนานก็ย่อมจะทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ดื่มตามโอกาสหรือดื่มเป็นครั้งคราว ดังนั้น ผู้บริโภคควรสำรวจพฤติกรรมการดื่มของตนเองและปรับให้เหมาะสม

ที่มา: https://www.bbc.com/news/health-47817650