สังคมไทย กับทิศทางไปของกัญชา

สังคมไทย กับทิศทางไปของกัญชา

         เรื่องของกัญชายังคงเป็นกระแสที่ถูกจับตามอง ซึ่งถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีความคืบหน้าไปมาก แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังคงมีความสับสนโดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัย ตลอดจนปริมาณและวิธีการนำไปใช้ และความเป็นไปได้ของการนำกัญชามาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องอาศัยข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการมาช่วยยืนยัน 

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัญชา ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่อง “สังคมไทย: ทางไปของกัญชา” โดย ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงข้อสรุปข้อมูลทางการแพทย์ของสารกลุ่มแคนนาบินอยด์และกัญชาว่า กลุ่มสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoid) เป็นกลุ่มสารที่พบในพืชกัญชา มีสารอยู่หลายชนิด ชนิดที่มีข้อมูลใช้ทางการแพทย์มากมี 2 ชนิด คือ tetrahydrocannabinol (THC) และ cannabidiol (CBD) ซึ่งเป็นสารที่ละลายในไขมัน สาร THC ในขนาดที่เหมาะสมจะมีผลในการลดปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการคลื่นไส้ แต่หากได้รับในขนาดสูงจะทำให้มีอาการเมาเคลิ้ม ใจสั่น หน้ามืด เห็นภาพหลอน รบกวนการรับรู้การตัดสินใจและความจำ นอกจากนี้การใช้สาร THC ขนาดสูงสม่ำเสมอทำให้เกิดภาวะดื้อต่อสาร (tolerance) ทำให้ต้องมีการเพิ่มขนาดเพื่อจะให้ได้ผลเท่าเดิมและเกิดการติดยาได้ สาร CBD เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอาการเมาเคลิ้มและอาการทางจิตของ THC มีการศึกษาการใช้สาร CBD เพื่อควบคุมอาการชักและอาการปวด สาร CBD ยังไม่พบว่าทำให้เกิดการดื้อหรือติด ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้จัดสาร THC เป็นสารเสพติดประเภทที่ 1 คือ มีโอกาสเสพติดได้ มีโอกาสนำไปใช้ในทางที่ผิด แต่มีประโยชน์ทางการแพทย์ ขณะที่จัดให้สาร CBD ไม่เป็นสารเสพติด สำหรับพืชกัญชายังนับว่าเป็นสารเสพติดประเภทที่ 1

พืชกัญชาแต่ละพันธุ์จะมีระดับสาร THC และ CBD แตกต่างกัน ขณะเดียวกันเทคนิคการปลูกก็มีผลต่อระดับสารเหล่านี้ด้วย ผลที่ได้จากการใช้กัญชาจากแต่ละแหล่งจึงแตกต่างกันได้ ในกลุ่มที่ต้องการฤทธิ์เมาเคลิ้มหรือนำมาเสพเพื่อสันทนาการจะพยายามพัฒนาให้กัญชามีระดับ THC สูง และมี CBD ต่ำ ในการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าระดับค่าเฉลี่ยของ THC ในพืชกัญชาเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 4 ในปี ค.ศ. 1995 เป็นร้อยละ 12 ในปี ค.ศ. 2015 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของสาร CBD ลดลงจากเดิมร้อยละ 0.5 ในปี ค.ศ. 2000 เหลือเพียงร้อยละ 0.1 ในปี ค.ศ. 2015 การจะนำกัญชาและสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มาใช้ในทางการแพทย์จะต้องควบคุมให้พืชที่นำมาใช้มีมาตรฐาน (standardize) มีปริมาณสารที่คงที่และไม่มีสาร THC สูงจนเกินไป และต้องไม่มีสารปนเปื้อน ในปัจจุบันมีการนำสารสกัดจากกัญชาในรูปน้ำมัน เนย และขี้ผึ้ง ซึ่งจะนำไปแปรรูปต่อเป็นขนมหรืออาหารซึ่งพบว่ามีระดับ THC สูงมากกว่าที่พบในธรรมชาติหลายเท่า โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ดูภายนอกจะไม่ต่างกับขนมหรืออาหารทั่วไป ทำให้เกิดการรับประทานโดยไม่ตั้งใจและบาดเจ็บจาก THC เกินขนาดได้

ประโยชน์ที่นำสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มาใช้ทางการแพทย์ พบว่าสาร THC สามารถลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และลดปวดได้ ส่วนสาร CBD มีที่ใช้ทางการแพทย์ในการลดปวดและควบคุมอาการชักได้ สำหรับภาวะอื่น ๆ ยังต้องมีข้อมูลสนับสนุนในคนเพิ่มเติม ปัจจุบันองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ของสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ดังนี้ 1. ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยที่รับยาเคมีบำบัดเมื่อใช้ยามาตรฐานไม่ได้ผล  2. ลดอาการเบื่ออาหารน้ำหนักลดในผู้ติดเชื้อเอชไอวี  3. โรคลมชักรุนแรง 2 ชนิดที่ชื่อว่า Lennox-Gastaut syndrome และ Dravet syndrome ขณะที่ประเทศออสเตรเลียจะเพิ่มให้ใช้กรณีควบคุมอาการปวดเรื้อรัง รักษาอาการปวดจากโรคเอ็มเอส ลดปวดและคลื่นไส้ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งข้อบ่งชี้ของทางออสเตรเลียนั้นกำหนดไว้ว่าให้ใช้เมื่อการรักษามาตรฐานยังได้ผลไม่ดีเท่านั้น

ผลระยะยาวของการเสพกัญชาพบว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคจิต การฆ่าตัวตาย การติดยา สมองฝ่อ ความคิดความจำผิดปกติ เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ถุงลมโป่งพอง และมะเร็งอัณฑะ การสื่อสารให้เข้าใจการใช้สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ทางการแพทย์นั้นแตกต่างจากการเสพกัญชา ข้อมูลของรัฐโคโลราโดพบผู้ที่เสพติดกัญชาเพิ่มขึ้น ผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่ตรวจพบสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มากขึ้น ผู้ที่ทำร้ายตนเองที่ตรวจพบสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มากขึ้น และพบว่ามีอัตราการนอนโรงพยาบาลจากภาวะที่เกี่ยวข้องกับกัญชามากขึ้น หลังการประกาศใช้กัญชาทางการแพทย์และเสรีกัญชา ในรัฐอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตใช้แคนนาบินอยด์ทางการแพทย์บางรัฐมีการจำกัดปริมาณ THC ให้ต่ำ และ CBD ให้สูง ขณะที่รัฐที่เปิดเสรีกัญชามีการควบคุมระดับ THC ในผลิตภัณฑ์ และมีการติดตามและจำกัดปริมาณการซื้อผลิตภัณฑ์ต่อคน

สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ในขนาดที่เหมาะสมมีประโยชน์ทางการแพทย์ บางข้อมีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอแล้ว อีกหลายข้อยังต้องศึกษาเพิ่มเติม แต่หากไม่มีการควบคุมระดับสารให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยและมีมาตรฐาน สารกลุ่มแคนนาบินอยด์และกัญชาก็มีผลข้างเคียงและโทษต่อสุขภาพ