St. Andrews

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์

St. Andrews
            คณะของชมรมสมาชิกวุฒิสภา 2551-2560 รวม 20 คน (งบประมาณส่วนตัว) ได้เดินทางไปปารีส 2 คืน แล้วจึงบินจากปารีสไปลงที่ Edinburgh, Scotland จากนี่เราก็รีบนั่งรถโค้ชตรงไปยังโรงแรม Macdonald Rusacks ซึ่งอยู่ข้าง ๆ หลุมที่ 18 ของสนาม Old Course อันมีชื่อของ St. Andrews โรงแรมนี้เก่าแก่มาก ไม่ใหญ่ แต่จุ๋มจิ๋ม น่ารักมาก มีลิฟต์เล็ก ๆ เพียงตัวเดียว ขึ้น-ลงช้ามาก มีห้องอาคารที่ได้มาตรฐาน Michelin มี bar และ grill และยังมี gastro บาร์ด้วย (คือขายแอลกอฮอล์ และอาหารที่อร่อย) ผมได้นอนห้องคู่กับท่านประธานชมรมฯ วรวุฒิ ซึ่งดีมากเลย เพราะท่านนอนเร็ว นอนง่ายมาก ผมทำลิงทำค่างอะไรท่านก็หลับได้ และตื่นเช้ามากก่อนผม เข้าห้องน้ำเรียบร้อยแล้วจึงปลุกผม หรือผมตื่นเอง จึงสะดวกสบายมาก บางทีตี 4 ก็ตื่นแล้ว (โชคดีที่ผมก็เป็นคนตื่นเร็ว จึงไปด้วยกันได้) จาก Edinburgh ไป St. Andrews โดยรถโค้ชและไกลมากพอสมควร ไปถึงก็บ่ายโมงกว่า ทานข้าวซึ่งก็ช้ามาก เพราะเสิร์ฟอย่างผู้ดี รอจนทุก ๆ คนทานจบจานแรกจึงจะเสิร์ฟจานที่ 2 เราก็รีบทานกันทุก ๆ คน แต่เป็น 3 courses lunch จึงเสียเวลา ที่เราต้องรีบทานเพราะ 11 คนต้องไปที off ตอนบ่าย 3 โมงที่สนาม Eden. ซึ่งจ่ายเงินไปแล้ว

            ที่สนามนี้มีคนเล่น 11 คน แต่มีรถเพียง 5 คัน โชคดีที่นั่งได้คันละ 2 คน เราเอารถ buggy (เสีย £25) แต่ไม่เอา caddy (เสีย £40!) ผมได้นั่งกับอดีตท่านประธานวุฒิสภา ท่านประสพสุข เพราะท่านวรวุฒิสูบบุหรี่ จึงนั่งกับท่าน สว.เกษศินี ซึ่งสูบบุหรี่เหมือนกัน

            พวกเราตื่นเต้นมาก เพราะเป็นประวัติศาสตร์ คนที่ตี golf รู้เรื่อง golf รู้ประวัติศาสตร์ golf จะรู้ดีว่า St. Andrews เป็นสถานที่ให้กำเนิด golf เราถ่ายรูปกันใหญ่ ถ่ายกันทุกอย่างที่ถ่ายได้ สนามก็ไม่มีอะไรมาก ตรงอย่างเดียว ไม่มีน้ำ ไม่มีภูเขา ไม่มีป่า มีแต่ bunker ซึ่งทารุณมาก ลึกเป็นรูปทรงกระบอก ตกลงไปตีขึ้นยาก ผมจึงพยายามตีไม่ให้ตก แต่ก็ตกไป 2-3 ที แต่ที่แย่คือหญ้าสั้นมากบน fairway ลูกจะวิ่งไกลมาก และสนามเป็นคลื่น 2 ข้าง fairway จะมี rough หรือหญ้าสูง เนื่องจากไม่มี caddy ช่วยดูลูก ลูกจึงหายบ่อย ทั้ง ๆ ที่เราเห็นตกลงใน fairway หรือตกใน rough ข้าง ๆ fairway แต่ก็ยังหาไม่พบ (ยังไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล!!!)

            พวกเรา 4 คน วันแรกตีได้ 6 หลุมเท่านั้น เพราะฝนตก แต่อีก 7 คนเล่นท่ามกลางฝนจนจบ ผมคิดว่าสนามไม่ยาก แต่เราตีไม่ดีเอง ตรงไปตรงมา แต่มองลูกตกไม่ค่อยเห็นเท่านั้น แต่ท่านประธานประสพสุข (เก่งที่สุดใน 4 คน) หาลูกเก่งมาก ช่วยหาลูกของผมให้ได้หลายลูก นอกจากนั้นยังมีสองตายายมาเดินเล่นในสนาม golf! ช่วยหาลูกให้ผมได้ด้วย 1 ลูก คนตีกอล์ฟในไทยเคยตัวมาก มี caddy ที่ดี ๆ คอยหยิบ เก็บไม้ ดูลูกให้เราอย่างแม่นยำว่าตกแล้ววิ่งไปทางไหน

            ทุก ๆ คนที่สนใจกีฬาจะต้องรู้จัก St. Andrews เพราะเป็น “บ้าน” ของกอล์ฟ หรือ “home of golf” เป็นเมืองที่มีสนาม “Old Course” ที่โด่งดังและเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นที่ใช้ในการแข่งขัน British Open ซึ่งถือว่าเป็น 1 ใน 4 Grand Slam ของ Golf คล้าย ๆ Wimbledon เป็น 1 ใน 4 Grand Slam ทางด้านเทนนิสของโลก

            กีฬากอล์ฟได้มีการเล่นที่สนามซึ่งต่อมากลายเป็นสนาม “Old Course” ตั้งแต่ในช่วงต้น ๆ ของ ค.ศ. 1400 ต่อมากอล์ฟก็ค่อย ๆ เป็นที่นิยม จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1457 กษัตริย์ James II ของ Scotland สั่งห้ามเล่นกอล์ฟเนื่องจากพระองค์มีความเห็นว่าผู้ชายหนุ่มเล่นกอล์ฟมากไป (แทนที่จะไปฝึกหัดยิงธนู!) กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาก็ห้าม จน James IV ในปี ค.ศ. 1502 ทรงเล่นกอล์ฟด้วย ได้ยกเลิกการห้ามดังกล่าว

            ในปี ค.ศ. 1552 Archbishop John Hamilton ให้สิทธิประชาชนของ St. Andrews เล่นกอล์ฟได้บนสนาม Links นี้ได้ ในปี ค.ศ. 1754 มี 22 ขุนนาง ศาสตราจารย์ และผู้มีที่ดินได้ก่อตั้ง Society of St. Andrews Golfers ในปี ค.ศ. 1797 St. Andrews Links มีปัญหาเนื่องจากได้ล้มละลาย สภาเมือง St. Andrews จึงได้ให้ชาวนาเลี้ยงกระต่ายบนสนามได้ การต่อสู้ระหว่างนักกอล์ฟและผู้เลี้ยงกระต่ายได้มีการดำเนินการถึง 20 กว่าปี จนปี ค.ศ. 1821 เมื่อนักกอล์ฟชื่อ James Cheape จาก Strathtyrum ซื้อที่ดิน จึงเป็นผู้ที่ถูกยกย่องว่าเป็นผู้ช่วยทำให้สนามนี้อยู่รอดได้

            ในปี ค.ศ. 1764 สนาม golf มี 22 หลุม! แต่ต่อมาสมาชิกเห็นว่ามี 8 หลุมที่สั้นไป จึงยุบมาเป็น 4 หลุม ทำให้เป็นที่มาที่ไปของการมี 18 หลุมต่อ 1 สนามเช่นในปัจจุบันนี้ The Old Course ถูกใช้เป็นที่แข่งขันของ Open Championship ซึ่งเป็นการแข่งขันที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และได้ถูกใช้ในงานนี้ถึง 28 ครั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1873 ครั้งล่าสุดคือ ค.ศ. 2010 ซึ่งมากที่สุดกว่าทุกสนาม จะมีการแข่งขัน Open Championship ที่สนามนี้ทุก 5 ปี