Modified AIIR ระบบปรับอากาศสำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและผู้ป่วยติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และบุคลากรทางการแพทย์

Modified AIIR ระบบปรับอากาศสำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและผู้ป่วยติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และบุคลากรทางการแพทย์

Modified AIIR เป็นผลงานของ ผศ.ดร.นินนาท ราชประดิษฐ์ และคณะ ซึ่งปรับที่พักอาศัยสำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่ได้รับการยืนยันผลการตรวจแล้วหรือจำเป็นต้องทำหัตถการที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดฝอยละออง เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการแสดงที่อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ เช่น ไอ จาม อาเจียน ท้องร่วง ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยที่มีการพ่นยา เป็นต้น ผู้ป่วยเหล่านี้ควรพักอาศัยอยู่ในห้องแยกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ (AIIR) ผู้ป่วย COVID-19 มีความจำเป็นต้องอยู่ในห้องพักที่มีแรงดันลบเพื่อลดการแพร่เชื้อของผู้ป่วยสู่ผู้อื่น เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยหรือแม้แต่การแพร่เชื้อจากผู้ป่วยผ่านร่างกายหรือเสื้อผ้าของบุคคลากรทางการแพทย์นำกลับไปติดบุคคลรอบข้างภายในและภายนอกโรงพยาบาล อัตราการระบายอากาศของห้อง AIIR มีมาตรฐาน กล่าวคือ มีการกำหนดทิศทางของการไหลของระบบอากาศทางเดียว จากส่วนที่มีความสะอาดไปสู่ส่วนที่มีความสกปรกมาก ทั้งนี้ รวมถึงการทำความสะอาดอากาศก่อนทิ้งเพื่อป้องกันการกระจายเชื้อสู่ภายนอก การดัดแปลงห้องผู้ป่วยเดิมให้เป็นห้องModified AIIR ได้จัดทำตามมาตรฐานและคำแนะนำต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ เช่น CDC, WHO, Ashare, วสท. รวมถึงบทความวิชาการทางวิศวกรรมศาสตร์และแพทยศาสตร์  อีกทั้งยังได้นำเทคโนโลยี IOT เข้ามาใช้กำหนดการแสดงผล วางแผนกำหนดการทำงาน ควบคุม รวมถึงเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ผลการทำงาน ส่วนประกอบหลักของห้อง Modified AIIR คือ AHU ที่มีหน้าที่ส่งลมเย็นเข้าสู่ห้อง ประกอบด้วยชุดกรองอากาศที่มีทั้ง Pre Filter  Medium Filter และ HEPA Filter  มีระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ความดัน อัตราการไหลของอากาศ โดยใช้การดึงอากาศภายนอก 100% มีส่วนของ EFU  ที่ทำหน้าที่ดึงอากาศจากภายในห้องซึ่งจะประกอบด้วยชุดกรองอากาศ Pre Filter  Medium Filter และ HEPA Filter มี หลอด UVC ฆ่าเชื้อโรคก่อนทิ้งสู่ภายนอกและมีระบบควบคุมปรับอัตราการไหลของอากาศเช่นเดียวกัน มีส่วนห้องโถง (Anteroom) ทำหน้าที่ช่วยรักษาแรงดันของห้องรวมถึงเป็นส่วนที่กั้นระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ก่อนเข้าไปดูแลผู้ป่วย และระบบประตูที่สามารถควบคุม สั่งการทางไกล ระบบการ์ด รวมถึง ประตูแบบไม่ต้องสัมผัส (Exit Sensor No Touch) เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสในเปิดเข้าออกในส่วนต่าง ๆ

ที่มา: กองการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร