สมิติเวช จับมือจุฬาฯ-สถาบันมะเร็ง ร่วมวิจัยตรวจมะเร็งปากมดลูกจากปัสสาวะ

สมิติเวช จับมือจุฬาฯ-สถาบันมะเร็ง ร่วมวิจัยตรวจมะเร็งปากมดลูกจากปัสสาวะ

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย รองจากมะเร็งเต้านม แต่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 พบในผู้หญิงช่วงอายุ 30-60 ปี จากข้อมูลล่าสุดของสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (GLOBOCAN 2008) พบว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 10,000 คนต่อปี และในแต่ละปีมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 5,200 คน หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน ทั้ง ๆ ที่มะเร็งปากมดลูกนั้นเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ สาเหตุหนึ่งมาจากความอาย และไม่กล้าที่จะมาตรวจในวิธีเดิม ด้วยเหตุนี้ทางโรงพยาบาลสมิติเวชจึงได้ร่วมมือกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทำวิจัยเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสฮิวแมนแปปิโลมา หรือ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก จากปัสสาวะเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หวังเป็นวิธีการใหม่ช่วยลดผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในระยะยาว

พญ.สมสิริ สกลสัตยาทร กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญในวงการแพทย์ไทยในการทำโครงการวิจัยตรวจหาไวรัส HPV ในปัสสาวะ เพื่อพัฒนาเทคนิคที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อ HPV จากสิ่งส่งตรวจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เซลล์ที่ป้ายจากปากมดลูก ซึ่งก็คือเซลล์ที่ได้จากน้ำปัสสาวะนั่นเอง ที่สำคัญนวัตกรรมดังกล่าวนี้เป็นความพยายามครั้งแรกของวงการแพทย์ไทยที่จะนำไปสู่ก้าวสำคัญของการลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ด้วยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน คือสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลสมิติเวช

โดยมะเร็งปากมดลูก ถ้าตรวจพบในระยะแรกเริ่มก่อนลุกลามสามารถรักษาได้ง่าย และหายขาดเกือบ 100% แต่หญิงไทยส่วนใหญ่พลาดโอกาสนั้น กว่าจะมาพบว่าตัวเองป่วยก็ลุกลามไปแล้ว สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความอาย และความกลัว วิธีการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะนี้ถือเป็นความหวังใหม่ของผู้หญิง ซึ่งทั้ง ๆ ที่ได้รับข้อมูลและทราบเรื่องการป้องกันโรคนี้จากสื่อต่าง ๆ แต่ยังอายและกลัวที่จะเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV และ Pap smear เป็นประจำทุกปี เชื่อว่านวัตกรรมใหม่นี้ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของผู้หญิงโดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกสูงให้หันมาใส่ใจและเข้ารับการตรวจเชื้อ HPV ได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการวิจัยจะยืนยันว่าสามารถตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะได้ แต่วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่มาทดแทนการตรวจ Pap smear เพียงแต่เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประโยชน์มากสำหรับกลุ่มผู้หญิงที่กลัวหรืออาย และไม่ยอมเข้ารับการตรวจภายใน รวมทั้งยังจะทำให้ผู้หญิงได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น และสามารถลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลง สำหรับผู้ที่เคยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการตรวจ Pap smear เป็นประจำทุกปีโดยสูตินรีแพทย์อยู่แล้วนั้น วิธีการนี้คงไม่จำเป็น เพราะคุณได้รับการตรวจที่ดีที่สุดและแม่นยำที่สุดอยู่แล้ว

นอกจากภายในงานจะประกาศความสำเร็จของผลการวิจัย ยังได้มีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันและความหวังใหม่ของสตรีไทยที่จะห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูก โดย นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (NCI-National Cancer Institute) และการเสวนาเรื่องทางเลือกในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งปากมดลูกและผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา นำโดย .นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.นพ.ไพโรจน์ จรรยางค์ดีกุล แพทย์หัวหน้าศูนย์พยาธิและเอชพีวี โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ และ Medical Director, Clinical Services ของ N Health