ครั้งแรกของโลก ศูนย์ธาลัสซีเมียศิริราช และ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี รับรางวัล SITA

ครั้งแรกของโลก ศูนย์ธาลัสซีเมียศิริราช 

และ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี รับรางวัล SITA

            รางวัลโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียนานาชาติ “สุลต่าน บิน คาลิฟา (Sultan Bin Khalifa International Award : SITA) เป็นรางวัลที่มูลนิธิเพื่อมนุษยธรรมและวิทยาศาสตร์ สุลต่าน บิน คาลิฟา อัล นายาน (H.H. Sheikh Sultan Bin Kalifa AL Nahyan) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นมูลนิธิองค์กรของรัฐที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2556 เป็นปีแรก เพื่อสนับสนุนและยกย่องบุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงาน และ/หรือวิจัยในการดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติชนิดอื่น ๆ อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียทั่วโลก โดยรางวัลประเภทสถาบัน (Center of Excellence) ได้มีการคัดเลือกจากสถาบันทางการแพทย์ 300 กว่าแห่งทั่วโลก และศูนย์ธาลัสซีเมีย โรงพยาบาลศิริราช นับเป็นสถาบันแห่งแรกในโลกที่ได้รับเกียรติยกย่องจากทางมูลนิธิฯ ให้รับรางวัลโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียนานาชาติ “สุลต่าน บิน คาลิฟา” (Sultan Bin Khalifa International Award : SITA) ประเภทสถาบัน นอกจากนี้ .เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ปูชนียาจารย์ด้านโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ยังได้รับการยกย่องให้ได้รับรางวัลประเภทบุคคล ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการและงานวิจัยอันเป็นประโยชน์ต่อวงการธาลัสซีเมียมาอย่างยาวนาน โดยรางวัลนี้ได้รับเกียรติจาก ชีค สุลต่าน บิน คาลิฟา ซาเย็ส อัล นายาน ที่ปรึกษาประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และประธานมูลนิธิฯ เป็นผู้มอบโล่และเงินรางวัลในการประชุมสมาพันธ์ธาลัสซีเมียโลก (Thalassemia International Federation 2013 World Congress) ที่กรุงอาบู ดาบี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา

จากความสำเร็จดังกล่าว ด้วยเหตุนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าว  “ครั้งแรกของโลกศูนย์ธาลัสซีเมียศิริราช และ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี รับรางวัล SITAโดยมี .คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าว ร่วมด้วย ผศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช, อ.นพ.ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ ประธานศูนย์ธาลัสซีเมีย โรงพยาบาลศิริราช และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชพันธุศาสตร์, รศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต กรรมการอำนวยการและกรรมการดำเนินการศูนย์ธาลัสซีเมีย โรงพยาบาลศิริราช และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา, รศ.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร, คุณอรินทร  ปัจฉิมพิหงค์ และ คุณอธิพัฒน์ บุรพันธ์ ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช

         ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าตนเองรู้สึกดีใจที่ศูนย์ธาลัสซีเมีย โรงพยาบาลศิริราช ได้รับรางวัลสถาบันแห่งความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมีย (Sultan Bin Khalifa International Award for Center of Excellence) จากมูลนิธิเพื่อมนุษยธรรมและวิทยาศาสตร์ สุลต่าน บิน คาลิฟา อัล นายาน (H.H. Sheikh Sultan Bin Kalifa AL Nahyan) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ทั้งนี้ศูนย์ธาลัสซีเมีย โรงพยาบาลศิริราช เป็นสถานที่ให้บริการการดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียอย่างครบวงจรแบบ 360 องศา เริ่มตั้งแต่การตรวจคัดกรองพาหะธาลัสซีเมียในประชากร การให้คำปรึกษาทางเวชพันธุศาสตร์ การวินิจฉัยก่อนคลอด รวมถึงนวัตกรรมการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI-T2*) เพื่อหาภาวะเหล็กเกินในตับและหัวใจ การให้เลือด การให้ยาขับเหล็กไปจนกระทั่งการรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียให้หายขาด โดยการปลูกถ่ายไขกระดูกและการทำยีนบำบัดในอนาคต ซึ่งการบริการดังกล่าวได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์กรระดับโลก ISO15189   

            นอกจากการรักษาแล้ว คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลยังได้บุกเบิกการวิจัยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ในครั้งนั้นมีอาจารย์ด้านโลหิตวิทยา 2 ท่านเป็นกำลังสำคัญคือ ศ.เกียรติคุณ พญ.คุณสุภา ณ นคร ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ ศ.เกียรติคุณ พญ.คุณหญิงสุดสาคร ตู้จินดา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โดยอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน ได้ทำการวินิจฉัยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่ชาวเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและของโลกด้วย 

                จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้น งานวิจัยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียได้เจริญก้าวหน้าสืบเนื่องภายใต้การนำของ .เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ผู้ทำการวิจัยถึงกลไกการเกิดโรคทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งนำไปสู่การป้องกันและรักษา ผลงานวิจัยของท่านเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ และยังได้รับเชิญไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยหลายแห่งเกือบทุกทวีปทั่วโลก นอกจากนี้ท่านยังมีบทความทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศมากกว่า 200 เรื่อง รวมถึงแต่งตำราวิชาโลหิตและคู่มือโลหิตวิทยาไว้มากมายให้แพทย์รุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ เหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานด้านอณูพันธุศาสตร์ของอัลฟ่าและเบต้าธาลัสซีเมีย และนำไปสู่การดูแลผู้ป่วยในทางคลินิก ด้านการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดในระดับอณูพันธุศาสตร์ ความรู้และประสบการณ์ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงในระดับชาติซึ่งใช้แพร่หลายในประเทศไทย และสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบในการดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในหลาย ๆ ประเทศอีกด้วย 

            ทั้งนี้เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียมีความเข้มแข็งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ.นพ.ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ ประธานศูนย์ธาลัสซีเมีย โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า แม้โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรคทางพันธุกรรม แต่สามารถป้องกันและรักษาได้หากทุกฝ่ายช่วยกัน เหตุนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะด้านธาลัสซีเมียขึ้นภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาระบบสุขภาพธาลัสซีเมีย” (คพธ) ในปี พ.ศ. 2545 โดยการริเริ่มของ ศ.เกียรติคุณ พญ.วรวรรณ ตันไพจิตร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และ ศ.พญ.จินตนา ศิรินาวิน ภาควิชาอายุรศาสตร์ เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยในรูปแบบสหสาขาและมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างภาควิชา และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานที่มาจากหลายภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาอายุรศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด และภาควิชารังสีวิทยา  

            โครงการดังกล่าวได้ทำการตรวจคัดกรองประชากรไปแล้วกว่า 100,000 ราย ให้การวินิจฉัยก่อนคลอด และตรวจวินิจฉัยในระดับอณูพันธุศาสตร์แก่คู่สมรสที่เป็นคู่เสี่ยงแล้วกว่า 2,500 คู่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 โครงการพัฒนาระบบสุขภาพธาลัสซีเมียถูกยกระดับเป็น “ศูนย์ธาลัสซีเมีย” สังกัดโรงพยาบาลศิริราช ทำการตรวจคัดกรองประชากรมากกว่า 12,000 รายต่อปี การตรวจวิเคราะห์ฮีโมโกลบินกว่า 6,000 รายต่อปี การตรวจรหัสพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) กว่า 3,000 ครั้งต่อปี รวมถึงการวินิจฉัยก่อนคลอดกว่า 400 ครั้งต่อปี นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ส่งต่อเพื่อการวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติในระดับชาติ และมีหน้าที่รับผิดชอบต่อโครงการควบคุมและป้องกันโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในเขตกรุงเทพมหานคร และ 17 จังหวัดหลักของภาคกลางในประเทศไทยด้วย

            นอกจากงานในด้านการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย การพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้ป่วยก็มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งการบริการและการพัฒนาในส่วนนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต   กรรมการอำนวยการและกรรมการดำเนินการศูนย์ธาลัสซีเมีย โรงพยาบาลศิริราช  

          รศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียว่า ปัจจุบันมีคนไทยที่เป็นพาหะประมาณร้อยละ 35 หรือประมาณ 18-20 ล้านคน จัดเป็นโรคที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมากที่สุดในประเทศไทย สาเหตุเกิดจากเม็ดเลือดแดงผิดปกติ มีอายุขัยสั้น แตกสลายง่าย ทำให้เกิดอาการซีด (โลหิตจาง) โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากการรับยีนธาลัสซีเมียมาจากทั้งพ่อและแม่ และจะสามารถถ่ายทอดพันธุกรรม (ยีน) นี้ไปสู่ลูกหลานได้ ในรายที่เป็นพาหะไม่แสดงอาการของโรค แต่ในผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรงและมีอายุขัยสั้นหากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม ดังนั้น พันธกิจที่สำคัญของศูนย์ธาลัสซีเมียอีกประการคือ การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียอย่างบูรณาการ เราได้จัดตั้งคณะทำงานหลายคณะภายในโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งมีทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 100 ท่านที่เข้าร่วม โดยคณะทำงานเหล่านี้ได้ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง 

            ปัจจุบันศูนย์ธาลัสซีเมีย โรงพยาบาลศิริราช มีผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่อยู่ในความรับผิดชอบมากกว่า 2,000 ราย โดยมีอายุตั้งแต่ 1 เดือน - 70 ปี รับผิดชอบดูแลตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การจัดหาหมู่โลหิตให้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพสูงและปลอดภัยเพียงพอ การรักษาโดยการให้เลือดอย่างสม่ำเสมอ การขับธาตุเหล็ก การตรวจติดตามปริมาณเหล็กสะสมในเนื้อเยื่อ ทั้งจากการตรวจเลือดและการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การตรวจติดตามการทำงานของหัวใจและต่อมไร้ท่อ ไปจนถึงการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และการรักษาด้วยยีนบำบัดในอนาคต

            ผลงานเด่นของศูนย์ฯ คือ การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการประเมินภาวะเหล็กเกิน โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI T2*) เป็นแห่งแรกในเอเชีย เรียกว่า โปรแกรม “SiTA Analysis” (Siriraj Thalassemia Analysis) ปัจจุบันมีผู้ป่วยมากกว่า 300 รายที่ได้รับการประเมินด้วยเทคโนโลยีนี้ การพัฒนาโปรแกรมดังกล่าว ทำให้สามารถลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและลดค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์ ตลอดจนการนำไปสู่การจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในการใช้ยาขับเหล็ก โดยเฉพาะยา deferiprone ซึ่งเป็นยาที่ใช้แพร่หลายในประเทศไทย สามารถช่วยผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียกว่า 1,000 ราย จากภาวะแทรกซ้อนอันเนื่องจากภาวะเหล็กเกิน ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีบทบาทสำคัญที่แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยทั่วประเทศจะนำไปพัฒนาการใช้ยาขับเหล็กที่ถูกต้อง 

               ยิ่งกว่านั้นศูนย์ธาลัสซีเมีย โรงพยาบาลศิริราช ยังทำการศึกษาวิจัยทางคลินิกทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ โดยทำการวิจัยร่วมกับสถาบันชั้นนำในระดับนานาชาติกว่า 14 แห่ง ตั้งแต่การวิจัยด้านการรักษาด้วยยีนบำบัด ร่วมกับ Memorial Sloan-Ketterring Cancer Center (MSKCC) (สหรัฐอเมริกา) การตรวจหาปัจจัยพันธุกรรมร่วมที่มีผลต่ออาการทางคลินิกของผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ร่วมกับ University of Oxford (สหราชอาณาจักร) การจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ร่วมกับ Thalassemia International Federation (TIF) โดยที่ศูนย์ธาลัสซีเมีย โรงพยาบาลศิริราช เป็นผู้ก่อตั้งและดำเนินการจัดการประชุม Asia Pacific Iron Academy Conference (APIA) เป็นต้น รวมถึงมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำระดับนานาชาติมากกว่า 100 เรื่อง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ Science, Cell, PNAS, Blood, British Journal of Hematology, Haematologica, Blood Cell Molecular and Diseases, Hemoglobin และยังได้เข้าร่วมในการจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียของประเทศไทย ผ่านทางมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย

              ภารกิจอีกประการหนึ่งที่สำคัญของศูนย์ธาลัสซีเมีย คือ การให้บริการทางวิชาการแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอด ให้มีความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นมืออาชีพ มุ่งเน้นในเรื่องการดูแลผู้ป่วย อันจะส่งผลดีต่อสังคมและประเทศชาติในภาพรวม โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จัดให้มีหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะการให้คำปรึกษาทางพันธุกรรม และความรู้ที่จำเป็นในการวินิจฉัยและป้องกันโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็นประจำปีละ 2 ครั้ง ปัจจุบันมีแพทย์ พยาบาล และนักวิทยาศาสตร์สุขภาพจากทั่วประเทศมากกว่า 300 ราย   ที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรนี้ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลท้องถิ่นของตน นอกจากนี้ยังได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลแบบก้าวหน้าสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 และปัจจุบันมีพยาบาลกว่า 500 คนทั่วประเทศที่ผ่านการฝึกอบรมดังกล่าว

            แม้ในปัจจุบันโรคธาลัสซีเมียจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มากและมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิต ถึงแม้ว่าเราจะสามารถให้การรักษาที่ดีเยี่ยม หากแต่การป้องกันผู้ป่วยใหม่ก็มีความสำคัญยิ่งและทุกคนสามารถทำได้ เนื่องจากโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งขณะนี้คนไทยเป็นพาหะกันมากถึงร้อยละ 35 ถ้ามีญาติเป็นธาลัสซีเมีย อัตราเสี่ยงที่จะเป็นพาหะจะยิ่งมากขึ้น และยิ่งสามีภรรยาเป็นพาหะทั้งคู่ โอกาสที่บุตรจะเป็นโรคธาลัสซีเมียมีได้ตั้งแต่ร้อยละ 25-50 วิธีป้องกันทำได้โดย 1. ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเลือดก่อนสมรส หรืออย่างช้าก่อนมีบุตรว่าตนเป็นพาหะหรือไม่ 2. ฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อแพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ว่ามีโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียหรือไม่ 3. ควรแนะนำให้ญาติพี่น้องไปตรวจเลือดโดยวิธีพิเศษว่าเป็นพาหะหรือไม่ และปรึกษาแพทย์ก่อนสมรส เพื่อวางแผนครอบครัวอย่างเหมาะสมต่อไป

            “ทั้งหมดนี้ ศิริราชหวังจะเห็นสังคมไทยและประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ว่า “ความสำเร็จที่แท้จริงนั้น มิได้เกิดจากการเรียน แต่เป็นการใช้ความรู้ไปก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ” ซึ่งถ้าทำอย่างนี้อย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าสังคมจะน่าอยู่ทีเดียว” .คลินิก นพ.อุดม กล่าวปิดท้าย