ลดระยะเวลารอรับการรักษาด้วยเลเซอร์ ในผู้ป่วยเบาหวานเข้าจอตาที่เสี่ยงต่อตาบอดในเขตชนบท โดยการส่งปรึกษาทางอินเตอร์เน็ต

ลดระยะเวลารอรับการรักษาด้วยเลเซอร์ ในผู้ป่วยเบาหวานเข้าจอตาที่เสี่ยงต่อตาบอดในเขตชนบท โดยการส่งปรึกษาทางอินเตอร์เน็ต

ปัจจุบันผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานที่พบได้ คือ ตาบอดจากเบาหวานเข้าจอตา ซึ่งจักษุแพทย์สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้ด้วยการตรวจคัดกรองเบื้องต้นและรักษาเบาหวานเข้าจอตา

การคัดกรองเบาหวานเข้าจอตาใน จ.นครราชสีมา ได้ดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน แต่ทั้งนี้กลับพบปัญหาจากระบบบริการตรวจตาผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากเป็นการบริการแบบตั้งรับ ทำให้ครอบคลุมการคัดกรองเบาหวานเข้าจอตาได้เพียงร้อยละ 2.7 อีกทั้งการคัดกรองเบาหวานเข้าจอตามีความซับซ้อน ต้องหยอดยาขยายม่านตา ตรวจด้วย Indirect ophthalmoscope ใช้เวลาตรวจนาน ใช้บุคลากรทั้งจักษุแพทย์ พยาบาล ระยะเวลารอรับการรักษาด้วยเลเซอร์ รอคิวรักษา 1-2 เดือน เครื่องเลเซอร์สมัยก่อน (argon laser) ยิงยาก ใช้เวลานาน นัดผู้ป่วยได้ไม่มาก รวมถึงความชำนาญของจักษุแพทย์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคัดกรองผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล กลุ่มงานจักษุวิทยา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และทีมวิจัย จึงได้เกิดความคิดในการคิดค้นงานวิจัยเรื่อง “การลดระยะเวลารอรับการรักษาด้วยเลเซอร์ในผู้ป่วยเบาหวานเข้าจอตาที่เสี่ยงต่อตาบอดในเขตชนบท โดยการส่งปรึกษาทางอินเตอร์เน็ต” ซึ่งเป็นการนำอินเตอร์เน็ตมาช่วยทำให้งานช่วยชีวิตผู้ป่วยเบาหวานเร็วขึ้น ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยเบาหวานไม่ให้ตาบอดนั่นเอง

พญ.อัจฉรา เล่าว่า ในปี พ.ศ. 2551 ตนและทีมงานจักษุ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้เริ่มคิดงานวิจัย R2R อย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากการตั้งคำถามวิจัยว่า การพัฒนาระบบตรวจคัดกรองเบาหวานเข้าตาเชิงรุก โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สามารถลดระยะเวลาการรอรับการรักษาด้วยเลเซอร์ในผู้ป่วยเบาหวานเข้าจอตาที่เสี่ยงต่อตาบอดในพื้นที่เขตชนบทของจังหวัดนครราชสีมาได้หรือไม่

ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย ได้ทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับการคัดกรองเบาหวานเข้าจอตาในเขตชนบททั้งในและต่างประเทศ หลังจากนั้นมีการพูดคุยระหว่างทีมงาน ซึ่งประกอบด้วย จักษุแพทย์ 2 คน พยาบาลเวชปฏิบัติทางตา 4 คน จากนั้นเริ่มเขียนโครงการและ proposal โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบบริการ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเป็นที่ปรึกษา และขอสนับสนุนงบประมาณในเรื่องเครื่องมือแพทย์และงบประมาณสำหรับงานวิจัย จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตพื้นที่นครราชสีมา

ขั้นตอนการทำงาน เริ่มจากการพัฒนาบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชนให้สามารถอ่านภาพจอตาเบื้องต้นในการคัดกรองเบาหวานเข้าจอตา และการพัฒนาระบบบริหารจัดการโดยมีการใช้ระบบไอทีเพื่อให้การทำงานในชนบทง่ายขึ้น สามารถเพิ่มความครอบคลุมการคัดกรอง เพิ่มคุณภาพของภาพถ่ายจอตา ลดระยะเวลาการรอรับการรักษาของผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อตาบอด

จากนั้นทีมงานได้เลือกพื้นที่นำร่องในการทำวิจัย 3 แห่ง โดยสุ่มตัวอย่าง 3 โรงพยาบาลชุมชนคือ ขนาด 60, 90 และ 120 เตียง เพื่อลดอคติ และคัดเลือกประชากรคือ ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายใน 3 อำเภอ จำนวน 4,650 ราย (เป็นผู้ป่วยชายร้อยละ 27 และผู้ป่วยหญิงร้อยละ 73 อายุเฉลี่ย 57.9 ปี) ซึ่งจะได้รับการแจ้งให้มาตรวจถ่ายภาพจอตาแล้ว พยาบาลโรงพยาบาลชุมชนจะส่งปรึกษาจักษุแพทย์ทางอินเตอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.mnrh.go.th ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นเบาหวานเข้าจอตาที่เสี่ยงต่อตาบอด และถ่ายภาพจอตาของผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับการคัดกรองเบื้องต้นจะถูกส่งมายังจักษุแพทย์อีกครั้ง โดยการบันทึก CD-ROM หลังจากนั้นจักษุแพทย์จะประเมินความสามารถของพยาบาล โดยศึกษาค่าความเห็นพ้อง ทั้งภาพที่ส่งทางอินเตอร์เน็ต และภาพที่บันทึก CD-ROM ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานเข้าจอตาที่เสี่ยงตาบอดจะได้รับการส่งมารับการฉายแสงเลเซอร์ภายในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ ในระหว่างการทำวิจัยมีการเก็บข้อมูลโดยจักษุแพทย์หัวหน้าทีม โดยเจ้าหน้าที่เทคนิคและทีมงานทั้งหมดได้มีส่วนร่วมในการวัดผลการพัฒนาด้วย

“ข้อดีของงานวิจัย อย่างแรกคือ ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยเลเซอร์เร็วขึ้น เพราะว่าสมัยก่อนกว่าหมอจะอ่านค่าจอตาแล้วส่งผลกลับต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน เนื่องจากทุกคนมีภาระงานมากอยู่แล้ว และเห็นว่างานตรงนี้เป็นงานที่เพิ่มเข้ามา แต่เมื่อทำสำเร็จ สิ่งแรกที่เปลี่ยนไปคือ ผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วขึ้นอย่างเด่นชัด ทำให้ลดการรักษาการตาบอดของผู้ป่วยได้ นอกจากนี้คือความมั่นใจของทีมงานชุมชนในการทำหน้าที่เป็นคนคัดกรองมีมากขึ้น เพราะว่าเขาจะตอบคำถามกับชาวบ้านได้ว่าตรวจเจอแล้วจะทำอะไรต่อให้เขา เพราะว่าสมัยก่อนคนตรวจกว่าจะเรียกผู้ป่วยมารักษา ผู้ป่วยก็อาจจะมีปัญหากันระหว่างโรงพยาบาลชุมชนกันว่า เอ๊ะ!...ทำไมตรวจฉันแล้วไม่รักษาเสียที เพราะฉะนั้นด้วยระบบนี้ทำให้สัมพันธภาพของผู้ป่วยกับผู้ให้บริการดีขึ้น ผู้ป่วยตาบอดก็ลดลง ส่วนทีมจักษุเองก็มีความสุขขึ้นในการทำงาน เพราะว่าสามารถอยู่ในออฟฟิศแล้วทำงานทางอินเตอร์เน็ตได้”

โดยสรุป งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเข้าจอตาได้รับการรักษาในเวลารวดเร็ว ลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาถึง 20,000 รายต่อปี เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเบาหวานเข้าถึงบริการตรวจภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น และเพิ่มศักยภาพของทีมโรงพยาบาลชุมชนในการตรวจคัดกรองเบาหวานเข้าจอตาได้อย่างมีนัยสำคัญ

จากงานวิจัยที่มีเป้าหมายในการช่วยผู้ป่วยเบาหวานให้ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาตาบอดเพราะเบาหวานเข้าจอตา ส่งผลให้งานวิจัย “การลดระยะเวลารอรับการรักษาด้วยเลเซอร์ในผู้ป่วยเบาหวานเข้าจอตาที่เสี่ยงต่อตาบอดในเขตชนบท โดยการส่งปรึกษาทางอินเตอร์เน็ต” ได้รับ รางวัล Routine to Research (R2R) ดีเด่นระดับตติยภูมิจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

พญ.อัจฉรา กล่าวว่า ความสำเร็จของงานวิจัยที่เกิดขึ้นได้นี้มาจากเพื่อนร่วมงานที่ดี โดยเฉพาะพยาบาลเวชปฏิบัติทางตาของกลุ่มงานจักษุที่ร่วมประชุมและระดมความคิดก่อนลงมือปฏิบัติจริง เนื่องจากงานนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมแพทย์และพยาบาลเฉพาะทางกับทีมโรงพยาบาลชุมชน ดังนั้น การประชุมระดมความคิดต้องครอบคลุมไปถึงระดับผู้บริหารโรงพยาบาลชุมชน ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน และยังต้องขอความเห็นชอบต่อผู้บริหารโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นับตั้งแต่หัวหน้ากลุ่มงานจักษุวิทยา รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ผู้อำนวยการ ตลอดจนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด

ไม่เฉพาะความสำเร็จในการคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานเข้าจอตาในผู้ป่วยกลุ่มเบาหวานอย่างเดียวเท่านั้น พญ.อัจฉรา ยังจะขยายการทำงานครอบคลุมไปถึงผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นต้อหินและต้อกระจกในอนาคตอีกด้วย โดยผู้ป่วยโรคต้อหินสามารถที่จะวินิจฉัยภาพได้จากจอนี้ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้อยากจะทำให้ทีมอ่านภาพจอตาที่เป็นพยาบาล และแพทย์โรงพยาบาลชุมชนมีความรู้ความสามารถอย่างมืออาชีพ ซึ่งจะต้องมีการอบรมพัฒนาทุกปีเพื่อจะฟื้นฟูความรู้

“สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่มุ่งมั่นอยากทำงานวิจัย อยากบอกว่าไม่ต้องกลัว ลองนำงานประจำของเรามานั่งดู แล้วคิดว่าสิ่งไหนที่เราอยากจะทำให้ดีขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย เราก็ลงมือทำเลย อย่าไปกลัวคำว่าวิจัย ให้มองข้ามไปถึงผลดีที่ผู้ป่วยจะได้รับ แล้ววันหนึ่งผลสำเร็จจะเกิดขึ้นเอง ขอให้เชื่อมั่นในความรู้ความสามารถ เพราะทุกคนมีศักยภาพที่จะทำสิ่งดี ๆ ได้อีกมาก” พญ.อัจฉรา กล่าวทิ้งท้าย