หนุนวิจัย R2R พัฒนางาน พัฒนาคน

หนุนวิจัย R2R พัฒนางาน พัฒนาคน

R2R จัดเป็นเครื่องมือในการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย ทำให้การขับเคลื่อนองค์กรเป็นไปในเชิงพลวัต หลักการของการทำวิจัย R2R คือ ตั้งคำถามจากปัญหาที่เกิดจากงานประจำ แล้วแก้ให้ดีขึ้นด้วยการพัฒนาผลการวิจัยที่ได้ ถ้ามีระบบบริหารจัดการที่ดีจะสามารถนำผลนั้น ๆ ไปพัฒนาองค์กรได้เสมอ ทั้งยังเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ขึ้นใหม่ในหมู่บุคลากร

.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการสนับสนุนการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยระดับประเทศ กล่าวว่า หากมองอีกมุมหนึ่ง R2R ทำให้ความจำเจของงานประจำหายไป กลายเป็นความท้าทาย ความสนุกที่ได้คิดค้นวิธีการสร้างความรู้เล็ก ๆ แต่เป็นความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมาทำประโยชน์ เกิดความภาคภูมิใจในงานที่ตัวเองทำ หรือจะเรียกว่าเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนก็ได้ และที่สำคัญคือ งานวิจัยประเภทนี้ทำกันเป็นทีม สามารถทำให้เกิด Team learning เกิดความสามัคคีได้

สำหรับการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันรับรองคุณภาพสถานบริการ (องค์การมหาชน) สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพในทุกบริบท ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิจนถึงตติยภูมิ ทั้งด้านการบริการ การรักษาพยาบาล รวมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพของระบบสาธารณสุขไทย

.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง R2R ของศิริราชว่า เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยที่ศิริราชสนับสนุนให้บุคลากรทุกสาขาอาชีพและทุกระดับทำงานวิจัย Routine to Research หรือ R2R เพื่อสร้างความรู้มาใช้ในการพัฒนางานประจำของตน โดยได้รับความร่วมมือให้คำปรึกษาด้านการบริการจัดการเป็นอย่างดีจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กระทั่งปี พ.ศ. 2551 ได้มีการบันทึกความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมกันสนับสนุนการเผยแพร่แนวคิด R2R จนเกิดกิจกรรมและเครือข่าย R2R ไปทั่วประเทศ

ผลของความสำเร็จในการขับเคลื่อน R2R ในคณะฯ ทำให้บุคลากรศิริราชเกิดการพัฒนาอย่างมาก ยกระดับผู้ปฏิบัติงานประจำให้เป็นผู้ที่สามารถสร้างและใช้ความรู้ที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง โดยผ่านการสร้างงานวิจัย ทำให้เกิดการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนางานประจำที่ทำอยู่ให้มีคุณภาพทั้งด้านการรักษาและการบริการดีขึ้นจนประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่ดีขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลดลง รวมถึงความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติสูงขึ้นอย่างชัดเจน อีกทั้งทำให้เกิดผลการวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะฯ ในระดับนานาชาติ สิ่งเหล่านี้ย้อนกลับมาทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสุขจากการเรียนรู้และพัฒนางานที่ตนเองทำด้วยความสนุก ช่วยขับเคลื่อนองค์การไปสู่องค์การแห่งการเรียนรู้ โดยผู้บริหารไม่จำเป็นต้องสั่งการ เพียงให้การสนับสนุนและชี้แนะอย่างเหมาะสมเท่านั้น

จากความสำเร็จนี้ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศเกิดความสนใจที่จะนำแนวคิด R2R ไปใช้ในการพัฒนาองค์กรทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นที่สนใจของต่างประเทศที่มาศึกษาดูงาน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ลาว และเวียดนาม ปัจจุบันทีมงานของศิริราชได้ร่วมสนับสนุนด้านวิชาการในรูปแบบของฐานข้อมูลเว็บไซต์ จดหมายข่าว และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงาน/องค์กรทั่วประเทศ เครือข่าย R2R ระดับภูมิภาค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงขอสนับสนุนด้านวิชาการและการถ่ายทอดเทคนิคการบริหารจัดการในการขับเคลื่อนงานวิจัย R2R ให้เครือข่ายและองค์กรต่าง ๆ รวมถึงเป็นแกนในการประสานงานอำนวยความสะดวกและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายด้วย อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างกว้างขวางในหลากหลายบริบททั้งในและนอกวงการแพทย์ วงการสาธารณสุข ที่สำคัญยังขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และเกิดการยกระดับทางปัญญา

ด้าน นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) ชี้ความสำคัญของ R2R ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญของการยกระดับการพัฒนาคุณภาพ ในปัจจุบัน สรพ. ได้กำหนดให้ทุกองค์กรต้องมีผลงานวิจัย R2R เป็นหนึ่งในเกณฑ์รับรองคุณภาพสถานพยาบาลในระดับสูงขึ้น

ส่วน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. เพิ่งเริ่มเข้ามาร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน R2R เพราะเห็นความสำคัญของการพัฒนาคนเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่จริงที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์จริง โดยเชื่อมั่นว่า R2R จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คนทำงานสามารถถอดรายละเอียดงานประจำของตนเอง พัฒนาเป็นองค์ความรู้ในรูปแบบของการวิจัยและนำไปขยายผลต่อ หรือนำไปดัดแปลงให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ของตนเองได้ จุดเด่นของการทำ R2R คือ ทุกคนสามารถทำงานวิจัย R2R ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีการนำแนวคิดในการทำงานวิจัยมาใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางาน ซึ่งที่ผ่านมานั้น จำนวนงานวิจัย R2R ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเรื่องการรักษาโรคในโรงพยาบาล แต่ในประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพหรือการป้องกันโรค ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของ สสส. ยังมีอยู่น้อยมาก สสส. จึงอยากสนับสนุนให้คนทำงานสุขภาพ หรือนักสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promoter) ทั้งผู้ที่อยู่ในระบบบริการสุขภาพ คือ บุคลากรทางการแพทย์ สหสาขาวิชาชีพ และผู้ที่อยู่นอกระบบบริการสุขภาพ เช่น เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีเครื่องมือที่จะช่วยยกระดับการบอกเล่าเรื่องราวของการปฏิบัติงานจริงไปถ่ายทอดให้แก่คนอื่นได้รับรู้ได้

ทั้งนี้ สสส. จะสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายของ สสส. ที่ทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพที่มีมากกว่า 10,000 องค์กร ได้พัฒนางาน R2R ในประเด็นปัจจัยเสี่ยงคือ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ และป้องกันโรคไม่ติดต่อ โดยนำแนวคิด R2R ไปปรับใช้ในการทำงานของแต่ละภาคีเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งเป้าภายใน 2 ปีนี้ สสส. จะพัฒนางาน R2R ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างน้อย 10 ประเด็น พร้อมถูกนำไปพัฒนาใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาการทำงานของนักสร้างเสริมสุขภาพที่อยู่ในพื้นที่ปฐมภูมิ และเกิดนักสร้างเสริมกระบวนการ R2R จำนวน 100 คนที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ภาคีเครือข่ายอื่น ๆ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาระบบสนับสนุนวิชาการส่วนกลาง ในรูปแบบของฐานข้อมูล เว็บไซต์ จดหมายข่าว วารสารวิชาการ เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการ นักวิจัยที่มีความสนใจในการพัฒนางาน R2R ต่อไป

การที่ สสส. เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักการขับเคลื่อน R2R ระดับประเทศในครั้งนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้ผู้ที่ขับเคลื่อนงาน R2R ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น เพื่อให้คนในพื้นที่ได้แรงกระตุ้นและการส่งเสริมให้เกิดการสร้างความรู้ใน Best Practice เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น ซึ่งต่อไป สสส. และภาคีเครือข่ายจะทำงานควบคู่กัน เพื่อให้งานสร้างเสริมสุขภาพที่เกิดขึ้นได้รับไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์ต่อไปทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ

ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่างานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นงานที่มีพัฒนาการตลอดเวลา ด้วยความเป็นพลวัตของเศรษฐกิจ สังคม และระบบสุขภาพ/ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ทำให้ต้องมีการพัฒนาด้านวิชาการ ควบคู่ไปกับงานที่ต้องเดินหน้าประจำ เพราะปัญหาของระบบสุขภาพไทยหรือแม้แต่ระบบสุขภาพของโลกมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าการเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ การเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ โรคมะเร็ง และอื่น ๆ ทำให้องค์กรทางสุขภาพในประเทศไทยต้องร่วมมือกันพัฒนาคนรุ่นใหม่ ๆ ให้ตื่นตัวทางความรู้ และใช้ความรู้นั้นมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบททางระบบสุขภาพของไทย ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ

นับเป็นโอกาสดีที่เครือข่าย R2R จะบูรณาการแนวคิดเพื่อต่อยอดความสำเร็จในการพัฒนาคน เพื่อพัฒนางานด้านบริการ และมีมุมมองงานสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดการวิจัย R2R ที่มีคุณค่า สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง โดยเน้นการสร้างนำซ่อม ด้วยการจุดประกาย กระตุ้น และสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ ทำให้เกิดผลดีทั้งด้านการฟื้นฟูสภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนในครอบครัว ทั้งนี้ สปสช. ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 นอกจากนี้ สปสช. ยังได้รับรางวัลจากการประกวดผลงาน R2R ดีเด่นเป็นประจำสม่ำเสมอทุกปี ที่สำคัญได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานเครือข่าย R2R ทั่วประเทศด้วย

เช่นเดียวกับ นพ.กำจัด รามกุล หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ให้ความเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญของ R2R จึงมีนโยบายสนับสนุนให้บุคลากรสาธารณสุขของหน่วยงานในสังกัดดำเนินการวิจัยจากงานประจำเพื่อพัฒนางานบริการสู่ประชาชนให้มีคุณภาพ และพัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายในการปฏิรูปของกระทรวง โดยครอบคลุม 4 ระบบ คือ ระบบบริการสุขภาพ ระบบส่งเสริมสุขภาพ ระบบควบคุมและป้องกันโรค และระบบคุ้มครองผู้บริโภค และมีสำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมกำกับและสนับสนุนด้านวิชาการและนวัตกรรมด้านสุขภาพให้ร่วมผลักดันและส่งเสริมภาคีเครือข่ายให้เกิดนวัตกรรมการบริหารจัดการด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อนำประโยชน์ด้านวิชาการและใช้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการปฏิรูประบบสาธารณสุข ในส่วนภาคีเครือข่ายสุขภาพซึ่งรวมถึงเครือข่าย R2R ให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพต่อไป

จากข้อมูล R2R ข้างต้น รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ หัวหน้าทีมที่ปรึกษาโครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยระดับประเทศ แจงว่า ความรู้เครือข่ายนี้ก่อให้เกิดผลงาน R2R ด้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ โครงการ Fast track และการก่อตั้งเครือข่ายดูแลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันภาคเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โครงการการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้ยาขยายรูม่านตาของผู้ป่วย โรงพยาบาลศิริราช, การพัฒนารูปแบบการเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกล่วงหน้าของคลินิกสุขกาย สบายใจ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์, การวิจัยบำบัดน้ำเสีย โรงพยาบาลหาดใหญ่ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน), คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) ในระดับประเทศ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพในทุกบริบทตั้งแต่ระดับปฐมภูมิจนถึงตติยภูมิ ทั้งด้านการบริการ การรักษาพยาบาล รวมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพของระบบสาธารณสุขไทย ด้วยเหตุนี้จึงได้จัดทำการลงนามความร่วมมือทางวิชาการขึ้น เพื่อสนับสนุนทางด้านวิชาการ บริหารจัดการ นโยบาย และงบประมาณในการดำเนินงานสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในระบบสุขภาพ ภายใต้บันทึกความร่วมมือฯ นี้

1. ทั้ง 5 หน่วยงานเห็นชอบที่จะสนับสนุนการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยโดยการจัดตั้งเครือข่ายวิจัย R2R ขึ้น จากบุคลากรทุกระดับในระบบสาธารณสุขที่สนใจในการดำเนินงาน R2R ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างนักวิจัย และนำไปสู่การต่อยอดความรู้ในประเด็นความสนใจร่วมต่าง ๆ ในอนาคต

2. ทั้ง 5 หน่วยงานเห็นชอบที่จะพัฒนาระบบสนับสนุนวิชาการส่วนกลางในรูปแบบของฐานข้อมูล เว็บไซต์ จดหมายข่าว R2R เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการ/นักวิจัยที่มีความสนใจ

3. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะสนับสนุนด้านวิชาการแก่กิจกรรมตามข้อ 1 และ 2

4. กระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนด้านนโยบาย ให้บุคลากรสาธารณสุขของหน่วยงานในสังกัดดำเนินการวิจัยจากงานประจำเพื่อพัฒนางานบริการสู่ประชาชนให้มีคุณภาพมากขึ้น และพัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

5. สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) จะสนับสนุนด้านวิชาการ การบูรณาการสู่กระบวนการพัฒนาคุณภาพ การบริหารจัดการตามกิจกรรมข้อ 1 และข้อ 2

6. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจะสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับการดำเนินงานตามกิจกรรมตามข้อ 1 และ 2

7. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะสนับสนุนด้านนโยบาย ให้หน่วยบริการคู่สัญญาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเห็นความสำคัญ และดำเนินงานวิจัยจากงานประจำเพื่อพัฒนา ให้ประชาชนผู้มีสิทธิได้รับบริการที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมมากขึ้น พร้อมทั้งพิจารณาสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับกิจกรรมตามข้อ 1 และ 2 ตามความจำเป็น