มะเร็งต่อมลูกหมาก (ตอนจบ)

มะเร็งต่อมลูกหมาก (ตอนจบ)

มะเร็งต่อมลูกหมากส่วนใหญ่ไม่มีอาการ (1/3 มีอาการ และ 2/3 ไม่มีอาการ) ถ้ามีอาการจะแยกแยะไม่ออกว่าเป็นโรคต่อมลูกหมากโตธรรมดาหรือเป็นโรคมะเร็ง มะเร็งอาจลุกลามไปนอกต่อมลูกหมาก ไปยังต่อมน้ำเหลือง และกระดูกได้ ซึ่งมักไปที่กระดูกสันหลัง สะโพก (pelvis) ซี่โครง กระดูกต้นขา (femur) ปัจจัยที่อาจลดความเสี่ยงคือ การที่ช่วยเหลือตัวเองบ่อย ๆ (มี ejaculation) แต่ถ้ามีเพศสัมพันธ์กับหลาย ๆ คน หรือเริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเยาว์ อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากการติดเชื้อบางอย่างจากการมีเพศสัมพันธ์

โดยทั่ว ๆ ไปเมื่อมีอายุ 50 ปี (หรือเมื่อมีอาการดังที่กล่าว) ควรไปปรึกษาแพทย์ แพทย์จะซักประวัติการขับถ่ายปัสสาวะ ตรวจต่อมลูกหมากด้วยนิ้วมือผ่านรูทวารว่าโตหรือไม่ ขรุขระหรือไม่ อาจตรวจปัสสาวะ และอาจตรวจเลือดหา PSA หรือ Prostatic Specific Antigen ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างมาจากต่อมลูกหมาก ค่าของ PSA จะสูงขึ้นตามอายุ เช่น อายุต่ำกว่า 50 ปี อาจมีค่าต่ำกว่า 2.5, อายุ 50-59 ปี ต่ำกว่า 3.5, อายุ 60-69 ปี ต่ำกว่า 4.5, อายุ 70 ปีขึ้นไปอาจต่ำกว่า 6.5 การจะตรวจหา PSA หรือไม่ ควรทำความเข้าใจกับแพทย์ก่อน เพราะถ้าค่า PSA สูง ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็ง ค่า PSA อาจสูงได้จากการติดเชื้อของต่อมลูกหมาก หรือจากการที่ต่อมลูกหมากโต แต่โดยสรุปยิ่งสูงมากยิ่งน่าสงสัยโรคมะเร็ง โดยมากถ้าสูงเกิน 10 ก็ต้องสงสัยโรคมะเร็ง แต่แพทย์จะไม่ดูระดับของ PSA เท่านั้น จะต้องดูว่าระดับขึ้นเร็วหรือขึ้นช้า ๆ

US Preventive Service Task Force ในปี ค.ศ. 2012 และองค์กรแพทย์อื่น ๆ ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองหามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการหาระดับ PSA เนื่องจากจะมีการวินิจฉัยโรคมะเร็งมากเกินไปและจะทำให้มีการรักษาโดยไม่จำเป็น เพราะโรคนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการและลุกลามช้า ถ้าให้การรักษาโดยไม่จำเป็นจะมีผลเสียมากกว่าผลดี การที่จะรักษาหรือไม่ ด้วยวิธีอะไร ต้องดูเป็นราย ๆ ไป ถ้าอายุมาก มีหลายโรค และมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ไม่นาน แพทย์อาจไม่รักษาก็ได้ แต่อาจต้องติดตามดูอาการ

ถ้ามีอาการ แพทย์อาจซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจทวาร ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดหา BUN, Cr (เกี่ยวกับโรคไต เพราะถ้าต่อมลูกหมากโต อุดตันระบบทางเดินปัสสาวะนาน ๆ จะทำให้ไตเสียได้) PSA, ทำ US, CT, MRI หรือส่องกล้องเข้าไปในรูทวารด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ (TRUS) เพื่อดูลักษณะของต่อมลูกหมาก ถ้าสงสัยโรคมะเร็งอาจตัดชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมากไปตรวจ

วิธีการรักษามีหลายวิธี ตั้งแต่เฝ้าดู ผ่าตัดต่อมลูกหมากออกหมด รวมทั้งต่อมน้ำเหลือง แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ หรือการฉายแสงด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น external beam, brachytherapy, HIFU หรือการรักษาทางฮอร์โมน เพราะต่อมลูกหมากอยู่ได้ด้วยการพึ่งฮอร์โมนเพศชาย ในบางกรณีการรักษาจึงทำการตัดลูกอัณฑะออกไป (orchidectomy) เพราะ testes (ลูกอัณฑะ) สร้างฮอร์โมนเพศชายคือ testosterone และต่อม adrenal จะผลิต dehydroepiandrosterone หรือถ้าเป็นมาก ๆ ในบางรายอาจใช้ยาฆ่ามะเร็ง (chemotherapy)

ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาต่าง ๆ อาจมีตั้งแต่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด ท้องเสียเรื้อรัง องคชาตไม่แข็งตัว ความรู้สึกทางเพศหายไป ผิวหนังไหม้ อ่อนเพลีย ปัญหาทางการทำงานของลำไส้ อาการร้อนวูบวาบ

ฉะนั้น ทุกท่านที่มีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะควรรีบไปปรึกษาแพทย์ ท่านอาจเป็นเพียงต่อมลูกหมากโตธรรมดา (หรือกระเพาะปัสสาวะหรือไตอักเสบ) ซึ่งแพทย์จะให้ยารับประทานเพื่อไม่ให้ต่อมลูกหมากโตมากขึ้น หรือถ้าท่านสบายดี แต่มีอายุ 50 ปี ก็ยังควรไปปรึกษาแพทย์ แพทย์ที่เหมาะสมที่สุดคือ แพทย์ที่รักษาทางการผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะ (urosurgeon)

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารมีบทบาทสำคัญมากต่อการมีสุขภาพที่ดีทั่ว ๆ ไป (หรือไม่ดี) ทั้งนี้ทุก ๆ ท่านต้องรีบทำตั้งแต่บัดนี้ และสอนลูก ๆ หลาน ๆ ให้ทำตั้งแต่วัยเยาว์ด้วย