น้ำแล้ง น้ำท่วม

น้ำแล้ง น้ำท่วม

เมื่อปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมคิดเป็นเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท! แต่ปีนี้เรากำลังประสบปัญหาของภาวะน้ำแล้ง หรือการขาดน้ำ ผมไม่เข้าใจจริง ๆ เลยว่ารัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยปล่อยให้เป็นแบบนี้ได้อย่างไร

ปัญหาน้ำแล้งของเราในขณะนี้เกิดจากการมีฤดูแล้งนานกว่าปกติจากการที่มีอากาศร้อนมาก จากการขาดฝน และจากการแบ่งปันน้ำใช้ พบว่าการเกษตรใช้น้ำมากที่สุดคือ 14,900 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 12,654 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามด้วยการใช้น้ำเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม 6,600 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 5,748 ล้านลูกบาศก์เมตร การใช้ในบ้าน 1,846 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 1,921 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอุตสาหกรรมน้อยที่สุดคือ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 243 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับปี พ.ศ. 2512-2513 และ พ.ศ. 2513-2514 ตามลำดับ

คาดว่าประเทศไทยจะมีน้ำเพียงพอสำหรับปีนี้ แต่น้ำสำหรับปีหน้าจะพอหรือไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่จะตกปีนี้ ปริมาณน้ำสำรองลดลงไปมากเพราะใช้น้ำในการปลูกข้าวครั้งที่ 2 มากไปคือ ปลูกถึง 8.5 ล้านไร่ ซึ่งตอนแรกนึกว่าจะปลูกเพียง 4.7 ล้านไร่

ปริมาณการใช้น้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมน้อยที่สุด เพราะอุตสาหกรรมที่ใหญ่มักมีน้ำของตนเอง แต่อุตสาหกรรมขนาดเล็กและกลางไม่มี องค์กรที่ต้องระวังคือ กลุ่มที่ใช้น้ำมาก ๆ เช่น การผลิตอาหาร (food processing), การผลิตเครื่องดื่ม (beverage), ประมง, เสื้อผ้า หรือกลุ่มที่ต้องมีระบบคลายความร้อน (cooling system)

ผมรู้สึกว่าประเทศไทยมีปัญหาทุกปีเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่น้ำท่วมก็น้ำแล้ง ผมเขียน พูด ทุกปีว่ารัฐบาลควรจะมีการวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อป้องกันภาวะทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ถ้าเราลงทุนอย่างโปร่งใส 500,000 ล้านบาท (อาจจะมากหรือน้อยกว่า) เราก็จะไม่ได้รับความเสียหายถึง 1 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเสียทั้งงบประมาณ เงินทองของประชาชน เสียทั้งบ้าน ทั้งชีวิต โดยไม่ได้อะไรขึ้นมา เราต้องป้องกันทั้งน้ำท่วม และการขาดน้ำ

ผมเคยเรียน วปอ. (สวปอ.มส.3) และอยู่ในกลุ่มที่ทำการศึกษาเรื่องน้ำท่วม ไปเยี่ยมกรมชลประทาน ฯลฯ ทุก ๆ คนก็รู้ว่าต้องทำอย่างไร ประเทศสิงคโปร์ที่ผมเพิ่งไปประชุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตอนนี้ไม่มีปัญหาเรื่องขาดน้ำแล้ว เพราะเขามีอ่างเก็บน้ำ เขาเอาน้ำที่ใช้แล้วไปใช้อีก (recycle) และใช้น้ำอย่างประหยัด (จึงยกเลิกการใช้น้ำในงานสงกรานต์ที่เขาจะจัดขึ้นปีนี้) และผู้ใหญ่สิงคโปร์คนหนึ่งบอกว่าอีกหน่อยเขาจะไม่ต้องพึ่งน้ำที่ซื้อจากมาเลเซียแล้ว เพราะมาเลเซียคิดแพงมากไป

ผมขออนุญาตพูดในฐานะชาวบ้านคนหนึ่งที่คิดแบบสามัญสำนึกที่รู้บ้างแต่ไม่รู้มากเท่าผู้เชี่ยวชาญ หลักการก็คือ เวลาฝนตกต้องเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด โดยป้องกันไม่ให้น้ำท่วมบ้านเรือน เช่น ปลูกป่าเหนือต้นน้ำตั้งแต่เหนือจดใต้ ต้นไม้จะได้ดูดซึมน้ำไว้และค่อย ๆ ปล่อยออกมา ต้องสร้างที่เก็บน้ำไว้ให้มาก ๆ ทั่วประเทศไทยตั้งแต่เหนือจดใต้ที่อาจเชื่อมติดต่อกันได้ อาจจะเป็นทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ บึง หรือเขื่อนก็ตาม ต้องมีมากเพียงพอที่จะเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด สำหรับการสร้างเขื่อนถ้าทุก ๆ คนมีความโปร่งใส มองประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว ต้องพิจารณาข้อดีและข้อเสียของการสร้างเขื่อนและการไม่สร้างเขื่อน รวมทั้งวิธีการอื่น ๆ อย่างตรงไปตรงมาอย่างโปร่งใส เช่น เก็บน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง ผลิตไฟฟ้า ท่องเที่ยว ประมง ฯลฯ ถ้ามีข้อดีมากกว่าข้อเสียก็ควรสร้าง ถ้ามีข้อเสียมากกว่าข้อดีก็ไม่ควรสร้าง

ถ้าเราเก็บน้ำไว้มากที่สุดแล้วและพอแล้ว เราอาจสร้างทางน้ำที่จะให้น้ำที่เหลือจากการเก็บไหลลงสู่ทะเลให้มากและเร็วที่สุด ผมแน่ใจว่าอีกหน่อยน้ำจะเป็นปัญหาที่สำคัญของชาวโลก ถึงขั้นอาจต้องรบกันเพราะแย่งชิงน้ำ สาเหตุหนึ่งมาจากภาวะโลกร้อน ทราบว่าถ้ามีน้ำเพียงพออาจปลูกข้าวได้ถึง 3 ครั้ง/ปี แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูความเหมาะสมและความต้องการของประเทศในด้านอื่น ๆ ด้วย เพราะการเกษตรใช้น้ำมากอาจจะไม่คุ้ม (ในตอนนี้) แต่อีกหน่อยเมื่อโลกขาดอาหารอาจต้องปลูกข้าวและผลิตอาหารให้ได้มากกว่านี้