มา...มา “ปรองดอง” กันเถอะ
การปรองดอง : ทางออกของ (ทุก) สังคมไทย
ปรองดอง มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า [ปฺรอง-] ก. ออมชอม, ประนีประนอม, ยอมกัน, ไม่แก่งแย่งกัน, ตกลงกันด้วยความไกล่เกลี่ย, ตกลงกันด้วยไมตรีจิต
ปรองดอง แปลว่า ก. ไม่แก่งแย่งกัน, พร้อมเพรียงกัน, ตกลงกัน (พจนานุกรม ไทย-ไทย อาจารย์เปลื้อง ณ นคร)
“ปรองดอง” เป็นคำใหม่ที่มิได้เป็นบทตั้ง หรือบทมาติกา แต่ปรองดองเป็นคำอธิบายของคำว่า “รอมชอม” รอมชอมเป็นคำค่อนข้างเก่า แต่คำว่าประนีประนอม เป็นคำค่อนข้างนิยมใช้กันมาก ส่วนการไกล่เกลี่ยเป็นคำที่มักใช้ในวงการตุลาการ หรือวงการศาล ดังที่ใช้กันในกรณีไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีเพื่อแสวงหาข้อยุติธรรมร่วมกัน
ปรองดอง [vt. vi.] to harmonize, to be in harmony [vt. vi.] (of estranged husband and wife) to be reconciled [vt. vi.] (of disputing parties) to compromise, to compound their differences (จากพจนานุกรมไทย-อังกฤษ อาจารย์ สอ เสถบุตร)
การยุติความขัดแย้งเพื่อให้เกิดการรอมชอม
ประชาชนคนในชาติทุกภาคส่วนยังต้องอยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ยังต้องรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ด้วยกัน ทุกคนหรือทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องมีความรอมชอมและสร้างความปรองดองกัน หากเราย้อนดูประวัติศาสตร์ จะพบความจริงว่าความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยและเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ที่สุดแล้วความขัดแย้งทางการเมืองจะต้องยุติลงด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่น ใช้อำนาจเด็ดขาด ใช้ระบบการปกครอง ใช้ภาวะผู้นำของผู้นำ ดังเช่นกรณีที่ฮิตเลอร์ใช้อำนาจเด็ดขาด ฮัมบูราบีใช้กฎหมายฮัมบูราบี ฝรั่งเศสใช้ระบบการปกครอง ในสหรัฐอเมริกา – ยอร์จ วอชิงตัน ใช้ภาวะผู้นำปรองดองระหว่างอเมริกาเหนือกับใต้ ในแอฟริกาใต้ ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา ใช้ภาวะผู้นำมีความอดทนในการนำความปรองดองสู่แอฟริกาใต้ หรือในสังคมไทยในอดีตจะเห็นว่ามหาราชแต่ละพระองค์ใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อสร้างจุดสมดุลให้เกิดขึ้นให้ได้
การปรองดองที่เกิดขึ้นชัดเจนที่สุดเกิดในสมัยของพระเจ้าตากสินมหาราชที่ในขณะนั้นเกิดมีการแบ่งก๊กแบ่งฝ่ายเพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ วิธีการที่พระองค์ทรงใช้ก็คือ ในเบื้องต้นเริ่มต้นด้วยการเจรจาขอให้มาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราชของชาติ เมื่อทรงใช้วิธีแรกไม่ประสบผล พระเจ้าตากสินจึงทรงใช้อำนาจเด็ดขาดปราบปรามทุกฝ่ายให้สยบ จนในที่สุดพระองค์ก็สามารถรวบรวมกำลังเป็นหนึ่งเดียวได้ และสามารถรบชนะพม่าได้ เอกราชที่สูญเสียก็กลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
การสร้างความปรองดองในประเทศโดยฝ่ายการเมืองเกิดขึ้นในประเทศไทยหลายครั้ง ภายหลังเกิดความขัดแย้งทางการเมือง เกิดความไม่สงบ และมีการปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายประชาชน มักแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อให้การกระทำที่ผ่านมาของทั้งสองฝ่ายไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย เช่น
พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕
พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ ๔ ถึงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
แต่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฉบับที่ผ่านมาล้วนแต่สยบความไม่สงบที่อยู่เหนือน้ำเท่านั้น แท้จริงแล้วความร้าวลึกของความขัดแย้งของกลุ่มคนในสังคม การขาดภาวะผู้นำของนักการเมือง และยังมีการแก่งแยกอำนาจของหลายกลุ่มผลประโยชน์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ยังคงเป็นปัญหาของสังคมที่ไม่มีผู้ใดเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง การออกกฎหมายจึงมิอาจสร้างความปรองดองให้แก่คนในชาติได้อย่างแท้จริง ปัญหาทางสังคมจึงยังเป็นระเบิดเวลาที่คอยจะปะทุขึ้นมาเมื่อมีสิ่งเร้าให้เกิดขึ้น
มาปรองดองในวิชาชีพสาธารณสุขกันดีกว่า
เดิมการแพทย์แผนตะวันออก หมอพื้นบ้านไทย มีการรักษาคนไข้แบบองค์รวม หมอคนเดียวที่ดูแลคนไข้ตั้งแต่การตรวจดูอาการไข้ ปรุงยาให้คนไข้ นวด ดัด ทำกายภาพบำบัดให้คนไข้ ถ้ามองแบบองค์รวมในเรื่องใหญ่ขึ้นมาอีกก็เช่นมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ความเครียด ความรวย ความจน เพื่อนไม่ดี หรือฝนตก ร้อนไป หนาวไป ปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ล้วนมีผลกระทบต่อสุขภาวะของมนุษย์เราทั้งสิ้น ดังนั้น เวลาแพทย์จีนจะตรวจรักษาจะคิดถึงเรื่องเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เวลารักษากับแพทย์จีนแล้วต้องคุยกันมากและนาน บางครั้งคุยจนคนไข้อารมณ์ดี โรคหายโดยไม่ต้องรักษาก็มี เพราะโรคมันอยู่ที่ใจ ทุกวันนี้องค์การอนามัยโลก WHO นิยามคำว่า "สุขภาพดี" คือต้องดีทั้งกาย ใจ และสังคม เรื่องนี้แพทย์แผนจีนได้ตระหนักถึงองค์ประกอบเหล่านี้เป็นระยะเวลายาวนานมาแล้ว ส่วนการแพทย์แผนปัจจุบันนั้นมีการรักษาโรคแบบแยกส่วนตามอาการของโรค โดยมีการตั้งชื่อโรคไว้เป็นประเภทและชนิดต่าง ๆ และมีการแยกแยะ (Classification) ไว้อย่างเป็นระบบที่เป็นเฉพาะทางพิสดารแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิด “อาการไอ” ก็จะถือว่าการไอเป็นอาการของ “โรค” ระบบทางเดินหายใจ เมื่อมีอาการจึงให้ยาแก้ไออย่างเดียว ยาแก้ไอที่ให้จะมีฤทธิ์ยาจะที่บรรเทาอาการไอได้ชะงัดมาก แต่ก็ขาดการหาสาเหตุที่แท้จริงของโรค เรียกได้ว่ารักษาไปตามอาการ ทำให้ในบางโรคก็ต้องกินยาไปตลอดชีวิต เพราะสาเหตุของโรคไม่ได้รับการแก้ไขหรือทำการรักษาที่ต้นเหตุนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครปฏิเสธว่าทั้งการแพทย์แผนตะวันออกและการแผนแผนตะวันตกต่างก็มีข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากจะถือเอาเรื่องของ "สุขภาพดี" คือต้องดีทั้งกาย ใจ และสังคม ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลกแล้ว โดยยึดที่ตัว “คนไข้” เป็นบุคคลหลัก จึงเป็นหน้าที่ของทุกวิชาชีพด้านสาธารณสุข ทั้งแผนปัจจุบันและแผนทางเลือก รวมทั้งแผนไทยด้วยที่จะต้องมีบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนเป็นคนที่มีสุขภาพดีทั้งกาย ใจ และสังคม กล่าวโดยสรุปก็คือ จะต้องมีการ “ปรองดอง” กันในหมู่เหล่าของวิชาชีพด้านสาธารณสุขทุกสาขา เพื่อให้เกิด ประนีประนอม, ยอมกัน, ไม่แก่งแย่งกัน, ตกลงกันด้วยไมตรีจิต เพื่อให้มี harmonization ระหว่างกันและกัน
กระบวนการด้านสาธารณสุขและกระบวนการยุติธรรมด้านกฎหมายมีส่วนคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ นักกฎหมายและบุคลากรด้านยุติธรรมที่ดีนั้น ต้องแนะนำดูแลให้คนปฏิบัติตามกฎหมายยิ่งกว่าการจับกุม ด้วยการค้นหาวิธีการที่จะสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่ประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎกติกาของบ้านเมือง เช่น หาวิธีการป้องกัน รวมทั้งแนะนำให้อย่าบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ อย่าขับรถขณะมึนเมา นำวิธีไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเหนือกว่าการนำคดีขึ้นสู่กระบวนการของศาลยุติธรรม การปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้จะยังความสันติสุขมาสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน
หาไม่แล้ว หากนักกฎหมายประสงค์เพียงปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายตามวิชาชีพทนายความ เพื่อให้เกิดรายได้จากการว่าความ ยิ่งเกิดคดีมากก็ยิ่งหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้น หากเป็นเช่นนี้แล้ว นักกฎหมายจะต่างอะไรกับเจ้าบ่างช่างยุ ยุให้ฝ่ายต่าง ๆ มีเรื่องมีความกัน มีความร่ำรวยบนความขัดแย้งของคนในสังคม เหตุเพราะว่า แม้แต่จะทำให้ลูกความฝ่ายตนสามารถชนะคดีได้ แต่ก็เป็นการสร้างความบาดหมางใจให้อีกฝ่ายเกิดความไม่พอใจและความเครียดแค้น หากทนายความที่ร่ำรวยจากการทำคดีลักษณะดังกล่าวถามว่าแล้วเจ้าตัวจะมีความสุขจริงหรือ เช่นเดียวกันหากบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มุ่งหวังให้มีคนไข้เจ็บป่วยมาก ๆ มาทำการรักษากับตน หรือทำการรักษาคนไข้เกินความจำเป็นด้วยเครื่องมือเครื่องไม้แห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างผลกำไรให้แก่สถานพยาบาลของตนเอง หรือเพื่อเพิ่มพูนรายได้ส่วนตัวของตนเองจะได้ร่ำรวยยิ่ง ๆ ขึ้น หรือร้านขายยาที่จ่ายยาที่เกินความจำเป็นให้แก่ลูกค้าเพื่อเพิ่มยอดขายให้แก่ร้านขายยาของฝ่ายตน การร่ำรวยบนความทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บ และความ “ไม่รู้” ของคนไข้ ซึ่งอาการโรคส่วนมากของเขาเหล่านั้นล้วนสามารถ “ป้องกัน” ได้ หรือรักษาด้วยเวชปฏิบัติธรรมดาก็สามารถหายได้แล้ว ความร่ำรวยเช่นนี้... มันเป็นความสุขที่แท้จริงหรือ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขัดแย้งทางการเมือง หรือความเห็นต่างในการประกอบวิชาชีพ ไม่สามารถแก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการออกกฎหมายเพียงประการเดียว กล่าวคือ การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนั้นไม่ได้เป็นวิธีการที่จะสามารถแก้ไขได้ทุกปัญหา เพราะมันไม่ใช่ยาสารพัดนึก สิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความสำคัญต่อการพิจารณาการให้นิรโทษกรรมมาก การนิรโทษกรรมจะต้องทำให้เป็นประเด็นสาธารณะจึงจะช่วยให้เกิดความปรองดองได้ หรืออย่างความขัดแย้งด้านการประกอบวิชาชีพนั้นก็ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการออกพระราชบัญญัติการประกอบวิชาชีพของแต่ละสาขาให้ครอบคลุมให้มากที่สุด เพราะการประกอบวิชาชีพเป็นการปฏิบัติต่อมนุษย์ทั้งระบบ ทั้งตัวร่างกายที่จับต้องได้และจิตวิญญาณที่จับต้องไม่ได้ การปกป้องวิชาชีพของฝ่ายตนมากเกินไปย่อมกระทบต่อวิชาชีพอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เกิดเหตุขัดข้องทางปฏิบัติงาน และสร้างปัญหาให้ระหว่างวิชาชีพ ทางออกของวิชาชีพจึงมิใช่ร่างกฎหมายให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนฝ่ายเดียว ทางออกที่ดีที่สุดต้องถือเอาผลประโยชน์ของ “ตัวคนไข้” เป็นหลัก เพราะทุกวิชาชีพด้านสาธารณสุขเป็นการประกอบวิชาชีพเพื่อ “รักษาคนไข้” ให้กลับสู่สภาพของสุขภาวะที่ดีทั้งสิ้น คนไข้ทั่วไปไม่ได้นับถือ “คุณหมอ” ที่เรียนมามาก มีความรู้ระดับปริญญาเอก หรือจบเมืองนอกเมืองนามา แต่ “คุณหมอ” ที่คนไข้นับถือคือคุณหมอธรรมดาที่สามารถรักษาเขาให้กลับคืนสู่สุขภาวะที่ดีทั้งทางกายและทางใจได้ ซึ่ง Martin H. Fischer กล่าวไว้ว่า The patient does not care about your science; what he want to know is, can you cure him.
กฎหมายการประกอบโรคศิลปะ คือหนึ่งในการปรองดองวิชาชีพ
มีพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 ที่น่าจะถือได้ว่าเป็นกฎหมายของการประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่ดีฉบับหนึ่ง โดยนิยาม “โรคศิลปะ” หมายความว่า กิจการใด ๆ อันกระทำโดยตรงต่อร่างกายของมนุษย์ในการบำบัดโรคซึ่งรวมตลอดถึงการตรวจโรค และป้องกันโรคในสาขาต่าง ๆ ที่ว่าดีก็เพราะว่ามีลักษณะที่เป็นกฎหมายเชิงมหภาค (องค์รวม) โดยมีมุมมองที่เห็นการประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขเป็น “กิจการในการบำบัดโรค (บำบัดปัดเป่าโรคให้ออกไปจากผู้ป่วย มิใช่การรักษาโรคดังที่นิยมเรียกในปัจจุบัน) เป็นทั้งการตรวจโรคและป้องกันโรค... ในสาขาต่าง ๆ ด้วย” เป็นกฎหมายที่ยังเห็นว่าเรื่องของสุขภาวะของคนไข้เป็นเรื่องขององค์รวมในทุกสาขาวิชาชีพตามที่ตนได้ร่ำเรียนมาและมีความถนัดเฉพาะด้านของตนเอง ซึ่งแยกออกเป็นด้านเวชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ ในการรักษาแบบองค์รวมนี้อาจเห็นได้จากนิยามของ “กายภาพบำบัด” ที่ว่า คือการกระทำในการช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อบำบัด ป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูการเสื่อมสมรรถภาพ หรือความพิการของร่างกาย หรือจิตใจ ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด ซึ่งได้แก่ การดัด การดึง การประคบ การนวด การบริหารร่างกายหรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของผู้ป่วย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการกระทำด้วยวิธีต่าง ๆ ดังกล่าว ตามหลักวิทยาศาสตร์หรือการกระทำอื่นที่รัฐมนตรีประกาศเป็นวิธีการทางกายภาพบำบัด... ซึ่งคำนิยามนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบโรคศิลปะทุกสาขา ถ้าหากว่าตั้งเป้าหมายการรักษาคนไข้ว่าจะต้อง “....เพื่อบำบัดป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูการเสื่อมสมรรถภาพ หรือความพิการของร่างกาย หรือจิตใจ...” ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้มากที่สุดและเร็วที่สุด
“ปรองดอง” คือความร่วมมือด้วยความพร้อมเพรียงกัน (Harmonization)
มนุษย์เราเกิดมามีความแตกต่างกันตามธรรมชาติ ผู้ชายก็ทำหน้าที่อย่างคุณพ่อ ผู้หญิงก็ทำหน้าที่อย่างคุณแม่ การจะเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิเท่าเทียมกับบุรุษทุกประการเป็นเพียงการเรียกร้องด้านกฎหมาย (ที่มนุษย์ยุคใหม่เป็นคนกำหนดขึ้น) เท่านั้น จะให้สตรีและบุรุษมีความเท่าเทียมกันทุกประการตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรืออย่างนิ้วมือทั้งห้าของมนุษย์เรา แต่ละนิ้วมีความสั้นความยาว มีตำแหน่งที่แตกต่างกันตามธรรมชาติที่ให้มา นิ้วทั้งห้าจึงบังเกิดประโยชน์อย่างมากมายแก่พวกเราในชีวิตประจำวัน หากนิ้วทั้งห้าเรียกร้องประชาธิปไตยให้ทุกนิ้วสั้นยาวเท่ากัน อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน นั่นคงไม่ใช่นิ้วมือของมนุษย์แล้ว การประสานงานกันบนความแตกต่างจึงก่อเกิดประโยชน์ได้มากกว่าอย่างแน่นอน ตามวิถีของธรรมชาติที่ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นก็เพื่อจะก่อประโยชน์ให้แก่ธรรมชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างแน่นอน ดังคำกล่าวที่ว่า Every Thing Happens For A Reason.
วิชาชีพด้านสาธารณสุขทุกสาขาเป็นการประกอบวิชาชีพที่ “บำบัดโรค บำรุงสุข” ให้แก่คนไข้และประชาชน การบำบัดโรค บำรุงสุขที่จะสัมฤทธิผลได้ดีที่สุดก็ต้องทำงานร่วมกันเหมือนนิ้วมือทั้งห้า ไม่มีนิ้วมือใดจะสำคัญที่สุดหรือนิ้วใดที่ไม่สำคัญ แต่ละนิ้วรับผิดชอบและทำงานในหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด โดยไม่เกี่ยงงอนที่จะประสานงานกับนิ้วอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิ้วใดนิ้วหนึ่ง เพียงเท่านี้ก็ก่อเกิด “การปรองดอง” ในหมู่วิชาชีพสาธารณสุข อันยังสุขภาวะที่ดีทั้งทางด้านกาย ด้านจิตใจ และด้านสังคมให้แก่ประชาชนได้อย่างเต็มภาคภูมิในศักดิ์ศรีของวิชาชีพแห่งตนแล้ว ดังคำกล่าวหนึ่งของเรื่อง TEAM WORK ที่ Henry Ford กล่าวไว้ว่า
“Coming together is a beginning. Keeping together is progress. Working together is SUCCESS.”