เตรียมความพร้อมร้านยาสู่รูปแบบนิติบุคคล

เตรียมความพร้อมร้านยาสู่รูปแบบนิติบุคคล

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

            เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรจัดกิจกรรมบรรยายพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการร้านยา “ธุรกิจก้าวหน้า ร้านขายยาสู่สากล” เพื่อรับทราบทิศทางของประเทศด้านธุรกรรมทางการเงิน และแนะนำให้ผู้ประกอบการร้านยาได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่การประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ร้านยาต้องเตรียมปรับตัวในเร็ววันนี้

สถานการณ์ปัญหา

            ก่อนอื่นขอเริ่มจากสถานการณ์ที่ทำให้ต้องมีการประชุมในครั้งนี้ คือ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โดยเห็นชอบมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล และอนุมัติหลักการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก 2 ฉบับ คือ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดสำหรับการโอนห้องชุดของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด นอกจากนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในการพิจารณาให้บุคคลธรรมดาสามารถโอนใบอนุญาตในการประกอบกิจการให้นิติบุคคลตั้งใหม่ได้

            สาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ ประกอบด้วย[1]

            1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ และ (8) คือ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) ที่มีอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่สูงกว่าร้อยละ 60 ให้ลดลงเหลือร้อยละ 60 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

         2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

                        2.1 กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินใด ๆ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งตั้งแต่วันถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล (วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

                        2.2 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งตั้งแต่วันถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล (วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 โดยมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำรายจ่ายอันเกิดจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รายจ่ายค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชีมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันที่ได้รับการจัดตั้งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

            3. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่ โอนอสังหาริมทรัพย์ของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลตั้งใหม่นั้น จากร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ เป็นร้อยละ 0.01

            4. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดสำหรับการโอนห้องชุดของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนและนิติกรรมสำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่ โอนห้องชุดของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลตั้งใหม่นั้น จากร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ เป็นร้อยละ 0.01

            มาตรการส่งเสริมให้เป็นนิติบุคคลนั้นมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ตั้งแต่เรื่องภาษีนิติบุคคล ซึ่งหากธุรกิจมีรายได้มากก็มีแนวโน้มที่จะเสียภาษีน้อยกว่าธุรกิจที่เป็นรูปแบบบุคคลธรรมดา หากประกอบธุรกิจขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ในขณะที่บุคคลธรรมดาต้องเสียภาษี แต่ก็ยังมีธุรกิจจำนวนมากไม่เห็นข้อดีของการประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล และยังประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาจำนวนมากซึ่งหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ไม่หักค่าใช้จ่ายตามจริง รัฐบาลจึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ลดการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาลง สำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(7) และมาตรา 40(8) หากพิจารณาจะเห็นว่า เมื่อหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้น้อยลงแล้ว นั่นหมายความว่าจะต้องเสียภาษีมากขึ้น เพื่อลดการเสียภาษีลงจึงควรต้องพิจารณาเรื่องการหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือพิจารณาเรื่องการเสียภาษีในรูปนิติบุคคล

            เงินได้จากการขายยาหรือสินค้าอื่นในร้านยาอยู่ในหลักเกณฑ์เงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) ซึ่งเดิมหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 80 จะลดลงเหลือร้อยละ 60 หรืออาจเลือกพิจารณาหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรืออาจต้องพิจารณาการประกอบกิจการในรูปนิติบุคคลแทน ความจริงก็มีธุรกิจอื่นที่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้ แต่มีข้อสังเกตว่ากรมสรรพากรเลือกประชาสัมพันธ์กับกิจการร้านทองและกิจการร้านยาให้ประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคลก่อนกิจการประเภทอื่น

            ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงร้านยาน่าจะมีการเสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากพบว่ามักยื่นแสดงรายการเพื่อเสียภาษีว่ามีเงินได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งอาจเป็นการหลบเลี่ยงเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรต้องมีการทำบัญชีอย่างถูกต้อง หักค่าใช้จ่ายตามจริง เพื่อเสียภาษีตามความเป็นจริง 

สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคล

            หากพิจารณาสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อเข้าสู่การประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งทางกรมสรรพากรได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง มีดังนี้

            1. กรณีขาดทุน นิติบุคคลประกอบกิจการแล้วขาดทุนสามารถได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดายังต้องเสียภาษี นอกจากนี้นิติบุคคลยังสามารถนำผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบันมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ด้วย

            2. กรณีได้กำไร ถ้าเป็นนิติบุคคล SMEs[2] กำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ยกเว้นภาษี แต่ถ้ากำไรสุทธิเกิน 300,000 บาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตราร้อยละ 10

            3. การโอนทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดาไปยังนิติบุคคล เช่น การโอนสต็อกสินค้า ระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559 – วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 จะมีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรฯ ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับกรณีนี้

            4. นิติบุคคล SMEs จะมีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรฯ สามารถนำรายจ่ายอันเกิดจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รายจ่ายค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชีมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันที่ได้รับการจัดตั้งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

            5. ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยจะมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมฯ ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจากร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ เป็นร้อยละ 0.01

            6. การโอนใบอนุญาตร้านยาจากบุคคลธรรมดาไปเป็นนิติบุคคล อาจมีปัญหาเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น หากผู้ขอใบอนุญาตที่เป็นนิติบุคคลได้รับใบอนุญาตหลังกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 (ใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557) ต้องปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนทั้งหมดทันที แต่ร้านยาที่ได้รับอนุญาตก่อนช่วงเวลาดังกล่าวมีระยะเวลาได้ปรับตัว กรมสรรพากรจะมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอีกครั้งในปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 เพื่อคงสิทธิประโยชน์ตรงนี้ไว้ 

 

มาตรการอื่นเพื่อช่วยติดตามการเสียภาษี อำนวยความสะดวกในการเสียภาษี และการคืนภาษี

            ในคู่มือภาษีอากร “ธุรกิจก้าวหน้า ร้านขายยาสู่สากล” มีการกล่าวถึง “ระบบการชำระเงินแบบ Any ID (นานานาม) หรือปัจจุบันเรียกว่า PromptPay (พร้อมเพย์)” โดยใช้หมายเลขอื่นที่ผู้รับโอนได้ลงทะเบียนไว้กับสถาบันการเงิน ได้แก่ เลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ หมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet ID) เลขที่บัญชีธนาคาร หรือ E-mail address เป็นรหัสผ่านในการชำระเงินหรือโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ต้องใช้เงินสด และวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป กรมสรรพากรจะคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านระบบ Any ID มีการส่งเสริมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำเพื่อทดแทนการใช้เงินสด ผ่านจุดรับชำระเงินที่มีอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย เช่น เครื่อง Electronic Data Capture (EDC) ซึ่งสามารถใช้เป็นช่องทางในการส่งข้อมูลการซื้อขายและข้อมูลภาษีไปยังกรมสรรพากร การจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เพื่ออำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนในการจัดทำและการนำส่งรายงาน

            นอกจากนี้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ได้มีการกล่าวถึงการหักภาษีและนำส่งภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) ซึ่งจะกำหนดให้เมื่อจ่ายเงินได้พึงประเมินด้วยระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคาร ธนาคารจะทำหน้าที่รับเงินภาษีและส่งต่อให้กรมสรรพากร และให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในกรณีที่เห็นสมควร เนื่องจากได้มีการนำส่งภาษีให้กรมสรรพากรผ่านธนาคารแล้ว ซึ่งต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรก่อน

เอกสารอ้างอิง

กรมสรรพากร. คู่มือภาษีอากร “ธุรกิจก้าวหน้า ร้านขายยาสู่สากล”. สืบค้นจาก http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/download/drugstore_manual.pdf (กันยายน พ.ศ. 2559)

กรมสรรพากร. เอกสารประกอบการนำเสนอ คู่มือภาษีอากร “ธุรกิจก้าวหน้า ร้านขายยาสู่สากล”. สืบค้นจาก  http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/download/drugstore_present.pdf (กันยายน พ.ศ. 2559)

กรมสรรพากร. กรมสรรพากรจัดสัมมนาร้านขายยาแนะให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และเตรียมธุรกิจให้พร้อมเข้าสู่ระบบ National e-Payment. เลขที่ข่าว ปชส.23/2559 (วันที่แถลงข่าว 7 กันยายน พ.ศ. 2559)

กระทรวงการคลัง. หนังสือด่วนที่สุดที่ กค.0726/ล1754 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) 

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. มติคณะรัฐมนตรี 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559. สืบค้นจาก http://www.thaigov.go.th/index.php/th/news-summary-cabinet-meeting/item/download/4029 (9 สิงหาคม พ.ศ. 2559)

 

[1]
                  [1] มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559
 

[2]
                  [2] มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท