สธ.มอบของขวัญปีใหม่ 2561 “สร้างสุข สร้างความปลอดภัยทั่วไทย”

สธ.มอบของขวัญปีใหม่ 2561 “สร้างสุข สร้างความปลอดภัยทั่วไทย”

            กระทรวงสาธารณสุขมอบของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2561 “สร้างสุข สร้างความปลอดภัยทั่วไทย” ขยายบริการผ่าตัดวันเดียวกลับในโรงพยาบาล เพิ่มช่องทางสร้างความรอบรู้เรื่องยาแผนปัจจุบันและสมุนไพรไทย ผ่านแอพพลิเคชั่น เพื่อให้คนไทยได้มีสุขภาพดี

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน), นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet), พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3, รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้บริหาร ร่วมส่งมอบความสุข “สธ.มอบของขวัญปีใหม่ 2561 สร้างสุข สร้างความปลอดภัยทั่วไทย”

.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีใหม่ พ.ศ. 2561 กระทรวงสาธารณสุขมอบของขวัญให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ลดการรอคอย ลดความแออัดในโรงพยาบาล ด้วยบริการผ่าตัดวันเดียวกลับบ้านในโรงพยาบาล (One Day Surgery) ตั้งเป้าหมายปี พ.ศ. 2561 มีผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด ODS ร้อยละ 15 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2564 เป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบริการได้มากขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตและทำงานได้เร็วขึ้น และส่งเสริมให้มีการใช้ยาอย่างปลอดภัย สมเหตุผลผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลทางแอพพลิเคชั่น “RDU รู้เรื่องยา” ซึ่งได้ร่วมกับเครือข่ายโรงพยาบาลสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลฯ และภาคีสุขภาพ พัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อเข้าถึงข้อมูลยาแผนปัจจุบัน ให้มีการใช้ยาอย่างเหมาะสม ผู้รับการรักษาจะสามารถเข้าถึงข้อมูลยาที่ตนเองใช้ รวมทั้งจัดทำแอพพลิเคชั่นสมุนไพรเฟิร์ส (SamunpraiFirst) ครบเครื่องเรื่องสมุนไพรในแอพเดียว ค้นหาพืชสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำเร็จรูปรักษาอาการป่วยเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ประชาชนนึกถึง เชื่อมั่น และใช้ก่อนใช้ยาอื่น

นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การพัฒนาการให้บริการด้านสาธารณสุขภาครัฐมีความทันสมัย ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลบนระบบ Gcloud หรือบริการคลาวด์ภาครัฐที่มีมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยระดับสากล เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ สนับสนุนให้ประชาชนลดความซ้ำซ้อนในการใช้ยารักษาโรค สามารถใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลด้วย Mobile Application “RDU รู้เรื่องยา” โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พร้อมให้การสนับสนุนโครงการ ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลและจะเป็นการรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ หากเราสามารถกระจายความรู้เรื่องยาที่ถูกต้องไปสู่ประชาชนในวงกว้างได้มากเท่าไร จะช่วยให้มีผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ส่งเสริมให้คนไทยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด และจากความร่วมมือที่หลากหลาย องค์กรนี้จะเป็นรากฐานสำคัญของการรวมเป็นหนึ่งเดียวทางด้านสาธารณสุขของไทย เพื่อแสดงศักยภาพความพร้อมสู่โครงการ Health Tech ในมิติอื่น ๆ ต่อไป

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่าย UHosNet กล่าวว่า แอพพลิเคชั่น RDU รู้เรื่องยา จะช่วยให้ประชาชนได้รับข่าวสารเรื่องยาที่ถูกต้อง โดยความร่วมมือของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสสส. โดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เป็นการสร้างความรอบรู้ด้านยาและสุขภาพให้แก่ประชาชนด้วยข่าวสารที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการกลั่นกรองทางวิชาการแล้ว และมี Clip video ให้คำแนะนำการใช้ยาในเมนู “สาระยาน่ารู้” เช่น การใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ การเก็บรักษายาให้ถูกวิธี เป็นต้น พร้อมค้นหาโรงพยาบาลและร้านยาใกล้ตัวได้

นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย เมื่อสแกน QR code บนซองยาที่ได้รับจากโรงพยาบาลจะได้รับข้อมูลยาที่ควรรู้ เช่น ข้อบ่งใช้ คำแนะนำในการใช้ยา ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ข้อควรระวัง การเก็บยาที่ถูกต้อง เป็นต้น และสามารถบันทึกประวัติการใช้ยาของตนเองเพื่อใช้ในการรับยาครั้งต่อไป หรือไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ๆ ดาวน์โหลดเวอร์ชั่น Android ใน Play Store โดยพิมพ์คำว่า “RDU รู้เรื่องยา” สำหรับ iOS คาดว่าพร้อมบริการกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ในระยะต่อไปจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้มีระบบเตือน หากพบว่ายาของผู้ป่วยซ้ำซ้อนหรือมีปัญหายาตีกันอาจเกิดอาการข้างเคียง หรือได้รับยาที่เคยมีประวัติแพ้มาก่อน เป็นต้น เริ่มให้บริการ QR code ในโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย 7 แห่ง ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561

นอกจากนี้ได้ให้กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สสส. จัดทำโครงการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ ในกรณีที่มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราทุกราย ในกรณีที่ผู้ขับขี่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจแอลกอฮอล์ได้ให้ส่งไปเจาะเลือดตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และเข้มข้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญจะมีการเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ร้อยละ 80 เป็นรถจักรยานยนต์ มักเกิดเหตุบนถนนสายรอง กลุ่มที่บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดมีอายุ 15-19 ปี รองลงมาคือ 20-24 ปี เวลาที่เกิดเหตุสูงสุดคือ 16.00-21.00 น. สาเหตุสำคัญคือ การดื่มแล้วขับขี่ โดยพบผู้บาดเจ็บจากการดื่มแล้วขับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 อายุต่ำกว่า 20 ปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.56 วันที่เกิดเหตุสูงสุดคือ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จึงเน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประชาสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติอย่างเข้มข้นแก่สถานประกอบการ ร้านค้า และประชาชนทั่วไป และร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจจับดำเนินคดีอย่างเข้มงวดในช่วงก่อนเทศกาลและในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะกรณีการขายสุราให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี การขายสุราในสถานที่และเวลาที่ห้ามขาย การเร่ขาย การโฆษณาหรือส่งเสริมการขาย (ลด แลก แจก แถม)

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า สำหรับระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน (Emergency Care System: ECS) ได้มอบให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงกำกับติดตามการทำงานของจังหวัด วางแผนรองรับสถานการณ์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ในแต่ละเขต และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (Basic Life Support: BLS) และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง (Advanced Life Support: ALS) ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับรวม 8,621 หน่วย, เรือปฏิบัติการฉุกเฉิน 155 ลำ, เครื่องบิน 129 ลำ, รถปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 19,422 คัน และเตรียมพร้อมผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 165,158 คน

         นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาพบว่า จำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จำนวนอุบัติเหตุเกือบ 4,000 ครั้ง สาเหตุมากที่สุดมาจากการเมาสุราร้อยละ 36.59 รองลงมาเป็นการขับรถเร็วร้อยละ 31.31 และตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ 17.84 โดยถนนทางหลวงมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด และถนนที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุดคือ ถนน อบต./หมู่บ้าน ทั้งนี้กรมควบคุมโรคได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดเฝ้าระวัง ตรวจเตือนและประชาสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในช่วงก่อนเทศกาล และดำเนินการตรวจจับอย่างเข้มข้นในช่วงเทศกาล 7 วัน โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเสี่ยง 100 ลำดับแรกของอำเภอทั้งหมด มี 109 อำเภอ อยู่ใน 48 จังหวัด ซึ่งมีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 40 ของทั้งประเทศ (878 อำเภอ) ในกรณีที่อุบัติเหตุนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราทุกราย กรณีเจ้าพนักงานตำรวจสงสัยหรือคู่กรณีร้องขอ ให้ส่งตัวผู้ขับขี่ทั้ง 2 ฝ่ายที่ไม่สามารถตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ทางลมหายใจได้ไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพร้อมใบนำส่งเพื่อเจาะเลือดและตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ ซึ่งจะนำผลตรวจที่ได้ไปใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีต่อไป

         นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น จึงได้พัฒนาระบบบริการทางการแพทย์แนวใหม่เพื่อประชาชน เป็นการผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS) ไม่ต้องรับเป็นผู้ป่วยในและอยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 24 ชั่วโมง ไม่ต้องนอนพักค้างคืน หลักการคือ ผู้ป่วยเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดมาจากที่บ้านและมารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล หลังพักฟื้นจากการผ่าตัดไม่กี่ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองและกลับบ้านได้ภายในวันเดียว ทำให้ลดเวลานอนในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติระหว่างมาโรงพยาบาล รวมทั้งช่วยลดระยะเวลารอคอยผ่าตัด ทำให้รักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น ลดความแออัดในโรงพยาบาล มีเตียงรองรับผู้ป่วยผ่าตัดฉุกเฉินหรือโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ส่งผลให้สามารถเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานและปลอดภัย โดยโรคหรือภาวะที่สามารถรับบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ เช่น โรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ริดสีดวงทวาร เส้นเลือดดำโป่งพองในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องท้อง ภาวะอุดตันของหลอดอาหารจากมะเร็งหลอดอาหาร นิ่วในท่อน้ำดี ฯลฯ

         นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ เช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ไพล เป็นต้น ดังนั้น แอพพลิเคชั่น สมุนไพรเฟิร์ส (SamunpraiFirst) ซึ่งนำ 3 แอพพลิเคชั่นมารวมไว้ด้วยกันคือ แอพพลิเคชั่นสมุนไพรไทย นามานุกรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย และพจนานุกรมศัพท์การแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึง สืบค้นสมุนไพรที่จะใช้รักษาอาการเจ็บป่วย เช่น ไข้หวัด ท้องอืด ท้องเสีย ปวดฟัน ปวดเมื่อย เป็นต้น และหาร้านขายยาใกล้ตัวได้ผ่าน Google API ขณะนี้มีสมุนไพร 60 ตัวตามสาธารณสุขมูลฐาน ดูแลรักษา 12 กลุ่มอาการ 21 อาการเจ็บป่วยตามบัญชียาหลักแห่งชาติ และจะอัพเดทจำนวนสมุนไพรเพิ่มเติมเป็นระยะ ให้ครบ 200 ชนิด สามารถดาวน์โหลดเวอร์ชั่น Android ทดลองใช้ได้โดยพิมพ์คำว่า “สมุนไพรเฟิร์ส” ใน Play Store หรือผ่าน QR code ได้แล้ววันนี้ สำหรับiOS สามารถใช้งานได้ต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2561

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมพัฒนาแอพพลิเคชั่น RDU รู้เรื่องยา โดยสนับสนุนข้อมูลยาสำหรับประชาชนที่ถูกต้อง ทันสมัย และเป็นไปตามแนวทางสากล ซึ่งเป็นข้อมูลยาที่ผ่านการรับรองจากการขึ้นทะเบียนยา และจะขยายการใช้แอพพลิเคชั่นนี้ไปยังร้านยาต่อไป นอกจากนี้ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล อย.ยังได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรสุขภาพ 5 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร สัตวแพทย์ และพยาบาล การพัฒนาร้านยาให้มีการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และส่งเสริมการใช้ยาปลอดภัยในชุมชน

         นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 จะเริ่มให้บริการ QR code ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 11 แห่ง จะขยายบริการเพิ่ม 32 จังหวัดในเดือนกุมภาพันธ์ และครบทุกจังหวัดภายในสิ้นปี พ.ศ. 2561 พร้อมทั้งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเผยแพร่แอพพลิเคชั่นนี้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขที่มีสมาร์ทโฟนประมาณ 300,000 คน เพื่อให้นำข้อมูลความรู้ และแอพพลิเคชั่นเผยแพร่แก่ประชาชนต่อไป

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในส่วนของการสนับสนุนนโยบายผ่าตัดวันเดียวกลับนั้น สปสช.ได้ปรับเงื่อนไขการเบิกจ่ายเพื่อสนับสนุนให้โรงพยาบาลผ่าตัดวันเดียวกลับ โดยจะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สำหรับ 12 กลุ่มโรค ตามที่กรมการแพทย์ได้เป็นประธานการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นการเบิกจ่ายชดเชยให้แก่หน่วยบริการที่ให้บริการแก่ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีการให้บริการเป็นกรณีผ่าตัดวันเดียวกลับตามรายการ กลุ่มโรค และหัตถการตามที่กำหนด เป็นบริการผ่าตัดเพื่อการรักษาที่มีระยะเวลานอนโรงพยาบาลตั้งแต่ 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง เฉพาะผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และหน่วยบริการที่ให้บริการต้องผ่านเกณฑ์การประเมินศักยภาพตามที่กำหนด ทั้งนี้คำนวณอัตราจ่ายตามค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (RW) โดยจ่ายจากกองทุนผู้ป่วยใน